Forexthai.in.th ย่อให้

  • ประเภทโบรกเกอร์ DMA/STP เป็นซับเซ็ตของโบรกเกอร์ NDD (No Dealing Desk) ที่ส่งคำสั่งซื้อขายของเทรดเดอร์ตรงเข้าสู่ตลาดหรือผู้ให้บริการสภาพคล่องโดยไม่มีการแทรกแซง
  • ความแตกต่างในการทำงานของโบรกเกอร์ ECN กับ DMA/STP คือโบรกเกอร์ ECN จะใช้เครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ในการเชื่อมต่อคำสั่งซื้อขายกับตลาดหรือเทรดเดอร์อื่นๆ ในขณะที่โบรกเกอร์ DMA จะส่งคำสั่งซื้อขายเข้าสู่ตลาดโดยตรงผ่านแพลตฟอร์มของโบรกเกอร์
  • โบรกเกอร์ DMA/STP มีคุณสมบัติข้อดีเช่น ช่วยลดความเสี่ยงจากการแทรกแซงของโบรกเกอร์, ประมวลผลคำสั่งซื้อขายอย่างรวดเร็ว, ราคาที่โปร่งใสและไม่มีการรีโควต ซึ่งเหมาะกับเทรดเดอร์พวก Scalper, Day Trade หรือเทรดสถาบันที่เทรดเงินก้อนใหญ่
  • ส่วนข้อจำกัดของโบรกเกอร์ DMA/STP คือจำเป็นต้องมีทุนเริ่มต้นสูง, ค่าคอมมิชชั่น, สเปรดที่ไม่คงที่และข้อจำกัดของ Leverage ที่ทำให้ต้นทุนการซื้อขายสูงขึ้นและการจัดการเงินทุนมีความซับซ้อนมากขึ้น

โบรกเกอร์ DMA/STP

เมื่อเทรดเดอร์เริ่มต้นในการเทรด Forex นั้น การเลือกโบรกเกอร์ Forex ที่ปลอดภัยคือปัจจัยที่สำคัญที่สุด ต่อมาเราก็มาดูว่าโบรกเกอร์ที่เราเลือกนั้นเป็นโบรกเกอร์ประเภทใด ซึ่งในบทความนี้ถึงคราวของโบรกเกอร์ประเภท DMA/STP โบรกเกอร์ที่ว่ากันว่าโปร่งใสจริงหรือหลอก? เราจะไปดูกันครับ


รู้จักกับโบรกเกอร์ DMA/STP

ก่อนจะรู้จักกับโบรกเกอร์แบบ DMA/STP เราต้องเกริ่นนำไปถึงต้นตอของมันเสียก่อน ซึ่งโบรกเกอร์ DMA/STP ถือว่าเป็นซับเซ็ตหนึ่งของโบรกเกอร์ NDD (No Dealing Desk)

  • โบรกเกอร์ NDD (No Dealing Desk) เป็นโบรกเกอร์ที่ไม่ผ่าน Dealing Desk หมายความว่าคำสั่งซื้อขายของเทรดเดอร์จะไม่ถูกแทรกแซงจากโบรกเกอร์ จะเป็นการดีลระหว่างเทรดเดอร์กับตลาด
  • โบรกเกอร์ NDD สามารถจำแนกออกมาเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ อีกคือ STP (Straight Through Processing) และ ECN ย่อมาจาก Electronic Communication Network
  • ซึ่งปัจจุบันก็มีแบบแอดวานซ์ขึ้นไปอีกคือ ECN/STP เอา 2 ระบบนี้มารวมกัน ส่วน DMA คือซับเซ็ตที่ย่อยจาก ECN ออกมาอีกทีตามรูปภาพด้านล่างนี้ครับ
ประเภทของโบรกเกอร์
จากแผนผังของประเภทโบรกเกอร์จะเห็นว่า โบรกเกอร์ประเภท DMA นั้นเป็นซับเว็ตย่อยมาจาก ECN อีกที (อ้างอิงจาก forex-central.net) ซึ่งเป็นซับเซ็ตของโบรกเกอร์ประเภท NDD อีกที

DMA/STP ต่างจาก ECN ยังไง?

ในส่วนของความแตกต่างระหว่าง DMA/STP กับ ECN นั้น ต้องแยกย่อยทีละส่วนคือ DMA, ECN และ STP ครับ เพราะมันคือระบบการทำงานคนละอย่างกัน โดยผมจะอธิบายคร่าวๆ ดังนี้

ECN (Electronic Communication Network)

  • โครงสร้างและการทำงานของ ECN จะใช้เครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ในการเชื่อมต่อเทรดเดอร์กับตลาดหรือเทรดเดอร์อื่นๆ หมายความว่าคำสั่งซื้อขายจะจับคู่กับคำสั่งที่ตรงกันจากเทรดเดอร์อื่นๆ ที่อยู่ในเครือข่ายหรือผู้ให้บริการสภาพคล่อง (Liquidity Providers) ก็ได้
  • จุดเด่นของ ECN คือราคาที่โปร่งใสและเป็นธรรม เนื่องจากราคามาจากตลาดจริงๆ โดยไม่ผ่านการแทรกแซงของโบรกเกอร์ รวมถึงมีสภาพคล่องสูงเพราะคำสั่งซื้อขายถูกจับคู่กับคำสั่งจากหลายๆ แหล่ง

DMA (Direct Market Access)

  • DMA เทรดเดอร์สามารถส่งคำสั่งซื้อขายเข้าสู่ตลาดโดยตรงผ่านแพลตฟอร์มของโบรกเกอร์ ไม่มีการผ่านเครือข่ายเหมือน ECN ทำให้ตำสั่งซื้อขายของเราจะดีลกับผู้ให้บริการสภาพคล่องโดยตรง
  • นั่นจึงทำให้สภาพคล่องน้อยกว่า ECN เล็กน้อย เนื่องจากคำสั่งซื้อขายถูกส่งไปยังตลาดหรือผู้ให้บริการสภาพคล่องเพียงอย่างเดียว ไม่มีการจับคู่กับเทรดเดอร์คนอื่นๆ เหมือน ECN

STP (Straight Through Processing)

  • STP คือการที่โบรกเกอร์ประมวลผลคำสั่งซื้อขายของเทรดเดอร์โดยอัตโนมัติผ่านระบบคอมพิวเตอร์ โดยไม่มีการแทรกแซงจากมนุษย์
  • ดังนั้น DMA/STP ก็คือระบบที่โบรกเกอร์ให้บริการการส่งคำสั่งซื้อขายเข้าสู่ตลาดโดยตรงและมีการประมวลผลคำสั่งซื้อขายโดยอัตโนมัติ
ระบบการทำงานของ DMA (Direct Market Access)
ภาพนี้แสดงถึงระบบการทำงานของ DMA (Direct Market Access) โดยแบ่งออกเป็นสามส่วนหลัก ได้แก่ เครือข่าย BM&FBOVESPA, TTNET และ DMA Clients ซึ่งเชื่อมต่อกันผ่านเครือข่ายของโบรกเกอร์ DMA เพื่อให้การซื้อขายเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

โบรกเกอร์ DMA/STP เหมาะกับใคร?

การจะรู้ได้ว่าโบรกเกอร์แบบ DMA/STP เหมาะกับใคร เราต้องเปรียบเทียบคุณสมบัติของโบรกเกอร์ประเภทนี้จากนั้นจึงจะรู้ได้ว่าเทรดเดอร์ประเภทไหนที่ต้องการคุณสมบัติเหล่านี้บ้าง

คุณสมบัติของโบรกเกอร์ DMA/STP

  1. คำสั่งซื้อขายจะถูกส่งเข้าสู่ตลาดโดยตรงโดยไม่ผ่าน Dealing Desk คุณสมบัตินี้ช่วยลดความเสี่ยงจากการแทรกแซงของโบรกเกอร์และทำให้การดำเนินการคำสั่งซื้อขายมีความโปร่งใส ไม่ขัดผลประโยชน์กับโบรกเกอร์
  2. คำสั่งซื้อขายถูกประมวลผลผ่านระบบคอมพิวเตอร์อัตโนมัติ ทำให้การดำเนินการคำสั่งซื้อขายรวดเร็วและเป็นราคาที่มาจากตลาดอย่างแท้จริง
  3. เนื่องจากราคาที่เสนอเป็นราคาจริงในตลาดจึงมีความโปร่งใสและสเปรดที่แคบ ทำให้เทรดเดอร์สามารถรับราคาเสนอที่ใกล้เคียงกับราคาตลาดจริง
  4. โบรกเกอร์ DMA/STP จะให้คำสั่งซื้อขายเข้าสู่ตลาดโดยตรง ดังนั้นจึงไม่มีการรีโควต (Requote) ที่จะเกิดขึ้นจากโบรกเกอร์ ทำให้การเทรดไหลลื่นไม่ติดขัดจนเสียหาย

สไตล์การเทรดที่เหมาะสมกับ DMA/STP

  • เทรดเดอร์ระยะสั้น (Scalpers): เนื่องจากมีการดำเนินการคำสั่งซื้อขายที่รวดเร็ว ไม่มีรีโควตและสเปรดที่แคบ เทรดเดอร์ที่ชื่นชอบการเก็งกำไรในระยะสั้นจึงใช้งานได้อย่างสะดวกไม่ติดขัด
  • เทรดเดอร์รายวัน (Day Traders): ต่อเนื่องมาจากการเทรดแบบระยะสั้น บางครั้งก็อาจจะเทรดวันต่อวัน โบรกเกอร์ DMA/STP จึงเหมาะกับเทรดเดอร์รายวันอีกด้วย
  • เทรดเดอร์สถาบัน (Institutional Traders): อีกหนึ่งประเภทของเทรดเดอร์ที่หลายคนมองเนื่องจากเทรดเดอร์ของสถาบันมักจะเทรดในปริมาณที่สูงมากๆ มีเงินทุนเยอะและต้องการสภาพคล่องสูงจึงเหมาะกับ DMA/STP
โบรกเกอร์ DMA/STP เหมาะกับใคร
ด้วยคุณสมบัติอย่างความรวดเร็ว สเปรดที่แคบ ไม่มีรีโควต โบรกเกอร์ประเภท DMA/STP จึงเหมาะกับเทรดเดอร์ระยะสั้นอย่าง Scalper, Day Trader รวมถึง DMA เป็นบัญชีที่ต้องการเงินฝากสูงซึ่งเหมาะกับเทรดเดอร์สถาบันที่ต้องการเทรดเงินก้อนใหญ่ในปริมาณสูง

ข้อจำกัดของโบรกเกอร์ DMA/STP

แม้ว่าโบรกเกอร์ DMA/STP จะมีคุณสมบัติที่น่าสนใจและดูมีประโยชน์แก่เทรดเดอร์อย่างมาก แต่มันก็ยังมีข้อจำกัดบางอย่างที่ทีมงานอยากนำเสนอเพื่อให้เทรดเดอร์ผู้อ่านทุกคนได้ชั่งน้ำหยักก่อนตัดสินใจเลือกครับ

ความจำเป็นในการมีทุนเริ่มต้นสูง

  • เนื่องจากการดำเนินการคำสั่งซื้อขายโดยตรงและสภาพคล่องสูง จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โบรกเกอร์หลายแห่งที่มับัญชีประเภท DMA/STP จึงมักจะกำหนดเงินทุนขั้นต่ำในการเปิดบัญชีที่ค่อนข้างสูง

มักมีค่าคอมมิชชั่น

  • สืบเนื่องจากข้อแรกจึงทำให้ โบรกเกอร์ DMA/STP มักจะเรียกเก็บค่าคอมมิชชั่น สำหรับการดำเนินการคำสั่งซื้อขาย และอาจทำให้ต้นทุนในการซื้อขายสูงขึ้น

สเปรดที่ไม่คงที่

  • ด้วยความที่ราคาที่เสนอมาเป็นราคาจากตลาดอย่างแท้จริง ดังนั้นในบางครั้งที่ตลาดเกิดความผันผวนมากๆ ค่าสเปรดก็จะไม่คงที่ บางครั้งแคบบางครั้งก็กว้าง ซึ่งมีผบต่อการคำนวณต้นทุนการเทรด

ข้อจำกัดของ Leverage

  • ค่าเลเวอเรจส่วนใหญ่ที่พบบ่อยในโบรกเกอร์ DMA/STP คือ 1:100 หรือ 1:200 ซึ่งถือว่าจำกัดมากกว่าแบบอื่นๆ รวมถึงจำกัด Position Size ด้วย แต่มองอีกมุมหนึ่งถือว่าเทรดเดอร์จะได้โฟกัสในการเทรดแบบไม่ประมาทเกินไป
ตัวอย่างโบรกเกอร์ระบบ DMA/STP
ตัวอย่างโบรกเกอร์ DMA/STP ที่ดีที่สุดสำหรับทั้งเทรดหุ้นและ Forex ทั้ง 5 ได้แก่ IG Group, HFM, FP Markets, Pepperstone, IC Markets แต่ละโบรกเกอร์ก็มีจุดเด่นแตกต่างกันไป เช่น IG เป็น L2 Dealer เป็นต้น

วิดีโอเกี่ยวกับระบบ DMA

ความแตกต่างที่ของ DMA และการซื้อขายแบบ Retail Trading เครดิต By More TraderTV Live Focus นาทีที่ 01:02-07:40

เพื่อขยายความเข้าใจเกี่ยวกับระบบ DMA ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น มีวิโอตัวหนึ่งเกี่ยวกับ ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างการเข้าถึงตลาดโดยตรง (Direct Market Access หรือ DMA) และการซื้อขายแบบ Retail Trading ซึ่งในวิดีโออธิบายในมุมมองแบบกว้างของระบบ DMA จึงอยากจะแชร์ต่อให้ผู้อ่านทุกคนได้รับชม

  • Focus นาทีที่ 1:02 ความแตกต่างในเรื่องค่าธรรมเนียม
  • Focus นาทีที่ 4:05 ความเร็วในการเลือกวิธีส่งคําสั่งซื้อของคุณไปยังตลาด
  • Focus นาทีที่ 6:10 วิธีการทำงานของ DMA
  • Focus นาทีที่ 7:05 ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับโบรกเกอร์

สรุป

ในที่สุดแล้วการทำความเข้าใจเกี่ยวกับโบรกเกอร์ DMA/STP ก็ถือว่าเป็นกุญแจสำคัญในการยกระดับการเทรดของเราไปอีกขั้น เพราะคุณสมบัติของโบรกเกอร์ประเภทนี้มีหลายอย่างที่เราสามารถประยุกต์ให้เข้ากับการเทรดของเราให้ดียิ่งขึ้นไปอีก เช่น การเข้าถึงตลาดโดยตรงทำให้สามารถรับประโยชน์จากราคาที่แท้จริง

อย่างไรก็ตามในโลกความเป็นจริงนั้นมีโบรกเกอร์อีกหลายประเภทที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกันขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่โบรกเกอร์แต่ะละแห่งกำหนดไว้ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็หวังว่าโบรกเกอร์แบบ DMA/STP อาจเป็นตัวเลือกที่ช่วยให้เทรดเดอร์เข้าถึงเป้าหมายการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพนะครับ

อ้างอิง:

ทีมงาน: forexthai.in.th

แสดงข้อคิดเห็น ให้กำลังใจ

comments

สารบัญบทความ