Forexthai.in.th ย่อให้

  • Limit order คือ คำสั่งซื้อขายล่วงหน้าในการเทรด Forex แบ่งเป็น Buy Limit (ตั้งราคาซื้อต่ำกว่าปัจจุบัน) และ Sell Limit (ตั้งราคาขายสูงกว่าปัจจุบัน) 
  • เหมาะกับกลยุทธ์การเทรดแบบจุดกลับตัว ใช้ได้ดีกับแนวรับแนวต้านและตลาด Sideway
  • ช่วยประหยัดเวลา ลดอารมณ์ และเพิ่มวินัยในการเทรด เพราะไม่ต้องนั่งเฝ้าหน้าจอตลอดเวลา
  • ต่างจาก Stop Order ตรงที่ Limit Order ใช้เมื่อคาดว่าราคาจะเด้งกลับ ส่วน Stop Order ใช้เมื่อคิดว่าราคาจะวิ่งต่อ
  • การใช้ Limit Order ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต้องเข้าใจตลาดดี วิเคราะห์แนวรับแนวต้านเป็น และมีแผนการเทรดที่ชัดเจน

Limit order

ต้องบอกผู้อ่านทุกท่านแบบนี้ครับว่า Limit order เกี่ยวข้องกับเรื่องของ “การตั้งสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Pending) ในการเทรด forex” ซึ่งจัดเป็นคำสั่งที่มีประโยชน์มาก และสามารถช่วยให้คุณทำกำไรได้มาก โดยเฉพาะเรื่องของแนวรับและแนวต้าน การตั้ง Pending แบบนี้เหมาะสมอย่างยิ่งกับคำสั่ง Limit order ดังนั้นมาทำความเข้าใจไปพร้อมๆ กันเลยนะครับ


Limit order คืออะไร?

Limit order กับการตั้งราคาซื้อขาย

Limit order คือ การสั่งซื้อขายล่วงหน้านั่นแหละครับ อธิบายง่าย ๆ คือ เราสามารถเลือกราคาที่ต้องการเข้าเทรดได้ก่อน โดยไม่ต้องมานั่งเฝ้าหน้าจอให้เมื่อย Limit Order แบ่งจะเป็น 2 ประเภท ได้แก่

  • Buy Limit: การที่ตั้งราคาซื้อที่ต่ำกว่าราคาปัจจุบัน
  • Sell Limit: การเลือกตั้งราคาขายที่สูงกว่าราคาปัจจุบัน

เมื่อกราฟวิ่งมาถึงจุดและเด้งกลับ เราจะได้กำไรทันที (นึกถึงลูกปิงปองสะท้อนกลับ) และด้วยลักษณะของคำสั่งของ Limit Order เป็นแบบจุดกลับตัว นั่นคือ ราคาเคลื่อนไหวไปถึงจุดหนึ่งแล้วกลับตัว จึงใช้กับกลยุทธ์การเทรดแบบกลับตัวเสียส่วนใหญ่ ซึ่งตรงข้ามกับ Stop order ที่ใช้กับคำสั่งแบบ Break Out กลยุทธ์การเทรดที่ใช้จึงแตกต่างกันไปด้วย

วิธีใช้ Buy Limit และ Sell Limit ให้เกิดประโยชน์

Buy Limit คืออะไร?

ตัวอย่างการตั้ง Buy Limit
ตัวอย่างการตั้ง Buy Limit ที่แนวรับ

Buy Limit หมายถึง การตั้งราคาซื้อให้ต่ำกว่าราคาปัจจุบัน สมมติว่าเรากำลังเทรดคู่เงิน EUR/USD ที่ราคา 1.20000 แต่เราคิดว่ามันน่าจะลงไปที่ 1.10000 ก่อนจะดีดกลับขึ้น เราก็แค่ตั้ง Buy Limit ที่ 1.10000 ซะ! ถ้าราคาลงมาถึงจุดนั้นและเด้งกลับขึ้น บูม! อย่างนี้เราก็ได้กำไรนั่นเอง ซึ่งคำสั่ง Buy Limit จะเกี่ยวพันกับราคาในแนวรับเป็นสำคัญนะครับ

Sell limit คืออะไร?

ตัวอย่างการตั้ง Sell Limit ที่แนวต้าน

Sell limit หมายถึง การตั้งราคาขายให้สูงกว่าราคาในปัจจุบัน ในทางกลับกัน ถ้าเราคิดว่า EUR/USD ที่ 1.20000 จะวิ่งขึ้นไปที่ 1.30000 ก่อนจะร่วงลงมา เราก็ตั้ง Sell Limit ที่ 1.30000 ได้เลย พอราคาขึ้นไปถึงและเด้งกลับในทิศทางขาลง แบบนี้เราได้กำไรเต็มๆ ซึ่งค่า Sell limit จะมีความสัมพันธ์กับแนวต้าน ซึ่งตรงข้ามกับ Buy Limit ที่สัมพันธ์กับแนวรับข้างต้นนั่นเองครับ

วิธีการใช้ Limit Order เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

  • รู้จักแนวรับแนวต้านให้แม่น: นี่คือหัวใจสำคัญของการใช้ Limit Order ครับ อย่างที่ผมบอกไปในตอนต้นว่าลักษณะของการตั้งค่า Limit Order จะเหมือนกับลูกปิงปอง คือเราตั้งเพื่อว่าให้มันเด้งไปที่จุดที่เราต้องการแล้วเกิดการเด้งกลับ จึงจะทำให้เราได้กำไร ยิ่งเราแม่นในเรื่องนี้เท่าไหร่ โอกาสทำกำไรก็ยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น
  • คุณไม่ต้องมานั่งเฝ้าหน้าจอ: ถ้าคุณแม่นในเรื่องของแนวรับแนวต้าน คุณก็ไม่ต้องมานั่งเฝ้าหน้าจอเลย เพียงแค่ตั้งค่า Limit order คุณก็สามารถทำกำไรได้แล้วครับ
  • ใช้กับตลาด Sideway: Limit Order เหมาะสำหรับกับตลาดที่เคลื่อนไหวในกรอบมากกว่าตลาดที่เป็นเทรนด์ (แต่จริง ๆ ก็สามารถใช้ได้ทั้งคู่ครับ) เราสามารถตั้ง Buy Limit ที่แนวรับและ Sell Limit ที่แนวต้านได้เลย
  • ใช้ร่วมกับเครื่องมือวิเคราะห์ทางเทคนิค: ลองใช้ Fibonacci Retracement หรือ Pivot Points ร่วมด้วย จะช่วยให้เราหาจุดวาง Limit Order ได้แม่นยำขึ้นครับ

นอกเหนือจากคำศัพท์คำว่า Limit order แล้ว ยังมีคำศัพท์อีกคำคือคำว่า Stop order ซึ่งคุณจะได้ศึกษาเป็นลำดับถัด ๆ ไป ทั้งสองคำนี้มีความหมายที่เกี่ยวข้องกับการตั้งค่าสัญญาไว้ล่วงหน้าทั้งสิ้นครับ ดังนั้นศึกษาสองคำนี้ไว้ได้ประโยชน์แน่นอน

ข้อดีของ Limit Order

  1. ประหยัดเวลา: ไม่ต้องนั่งเฝ้าหน้าจอตลอดเวลา
  2. ลดอารมณ์: เพราะเมื่อเราตัดสินใจวางแผนล่วงหน้า ไม่ต้องมานั่งเฝ้ารอกราฟ มันก็จะทำให้เราไม่เครียดไปโดยอัตโนมัติครับ
  3. เพิ่มวินัย: ช่วยให้เราเทรดตามแผนที่วางไว้

เปรียบเทียบ Limit Order vs. Stop Order

Stop Order และ Limit Order
ความแตกต่างระหว่าง Stop Order และ Limit Order: Stop Order ใช้เมื่อคาดว่าราคาจะวิ่งต่อ, Limit Order ใช้เมื่อคาดว่าราคาจะเด้งกลับ

หลายคนอาจสงสัยว่า Limit Order ต่างจาก Stop Order ยังไง ผมจะอธิบายง่าย ๆ แบบนี้ครับ

  • Limit Order: ใช้เมื่อเราคาดว่าราคาจะเด้งกลับ
  • Stop Order: ใช้เมื่อเราคิดว่าราคาจะวิ่งต่อในทิศทางเดิม

ตัวอย่างเช่น ถ้าราคา EUR/USD อยู่ที่ 1.20000:

  • Buy Limit ที่ 1.19000 = คาดว่าราคาจะลงมาที่ 1.19000 แล้วเด้งขึ้น
  • Buy Stop ที่ 1.21000 = คาดว่าถ้าราคาขึ้นไปถึง 1.21000 มันจะวิ่งขึ้นต่อ

เห็นความต่างไหมครับ? Limit Order เหมาะกับการเล่นแนวรับแนวต้าน ส่วน Stop Order เหมาะกับการเล่นแบบ Breakout นั่นเองจ้า

ตัวอย่างกลยุทธ์การเทรดในสถานการณ์จริง

อย่างที่ได้กล่าวไว้ตอนต้นว่า การเทรดด้วย Limit Order นั้นจะต้องใช้กับกลยุทธ์ประเภทจุดกลับตัว โดยสิ่งที่เราต้องรู้ก่อนก็คือ “แนวรับและแนวต้าน” ที่จะเป็นจุดที่ใช้วาง Limit Order โดยที่

  • แนวรับนั้นจะใช้วาง Buy Limit Order
  • แนวต้านนั้นจะใช้วาง Sell limit Order

โดยสามารถเทรดได้ทั้งตลาด Sideway และตลาดเทรนด์ ขณะที่ตลาด Sideway สามารถเทรด Limit Order ได้ทั้งฝั่ง Buy และ Sell ขณะที่ตลาดมีเทรนด์ควรเทรดฝั่งเดียวและไม่ควรสวนเทรนด์ เพราะว่าจะทำให้ค่า Risk:Reward ที่ได้นั้นไม่คุ้มค่า

เรามาดูตัวอย่างการวาง Limit Order ในตัวอย่างจริงกันสัก 1 ตัวอย่างกัน ดังนี้ครับ

ตัวอย่างการวาง Limit Order

ในกราฟ เราจะเห็นวงกลมสีแดงและสีฟ้า ซึ่งแสดงแนวต้านและแนวรับตามลำดับ เราสามารถส่ง Sell Limit ที่แนวต้าน (วงกลมแดง) และ Buy Limit ที่แนวรับ (วงกลมฟ้า) เพื่อดักให้เกิด Position

สิ่งสำคัญที่ต้องระวังในการใช้ Buy Limit และ Sell Limit คือ การใส่ Stop loss ไว้ตั้งแต่แรกครับ เพราะถ้าเราพลาด มันอาจหมายถึงการขาดทุนแน่นอน โดยเฉพาะในกรณีที่เกิด Breakout ซึ่งราคาอาจเคลื่อนไหวอย่างรุนแรงตรงข้ามกับออเดอร์ที่เราส่งไป

สรุป

การเทรดโดยใช้ Limit Order ให้เป็น สามารถสร้างประโยชน์ให้กับเทรดเดอร์ได้มาก เช่น การไม่ต้องเฝ้าหน้าจอ ความสะดวกในการกำหนดจุดเข้าจุดออกไว้ก่อนแน่นอน ทำให้การเคลื่อนไหวของราคาไม่มีผลต่ออารมณ์ของเทรดเดอร์ เทรดเดอร์สามารถประยุกต์ใช้ Limit Order ในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

และสุดท้ายที่ผมอยากจะฝากไว้ก็คือ การใช้ Limit Order ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เราต้องเข้าใจตลาดให้ดี รู้จักวิเคราะห์แนวรับแนวต้าน และมีแผนการเทรดที่ชัดเจนด้วย

 

ทีมงาน: forexthai.in.th

 

แสดงข้อคิดเห็น ให้กำลังใจ

comments