Forexthai.in.th ย่อให้
- ระบบเทรดสั้น M1 Countertrend Scalping Strategy จะเน้นไปที่การจับจังหวะการย่อตัวของราคา Forex
- เทรดกับคู่สกุลเงินที่มีสภาพคล่องสูง เช่น EUR/USD, GBP/USD, USD/JPY เป็นต้น จะได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า
- ใช้ Indicator เพียง 2 ตัวเท่านั้น คือ Moving Average แบบ EMA และ Relative Strength Index (RSI)
- เงื่อนไขในการเทรดคือระยะห่างของราคากับเส้น EMA ต้องห่างกันในระดับหนึ่ง และราคาจะต้องไม่อยู่ภายในกรอบของเส้น EMA ทั้งสามเส้น
- ข้อควรระวังคือ ทุก ๆ การเทรดจะต้องมี SL/TP รองรับ และเทรดเดอร์ควรจะมีประสบการณ์ในตลาด Forex มาแล้วในระดับหนึ่ง
M1 Countertrend Scalping Strategy เป็นระบบเทรดที่ได้รับการสืบทอดต่อ ๆ กันมาอย่างยาวนาน จนค้นหาข้อมูลว่าใครคือผู้ที่สร้างระบบเทรดนี้ไม่ได้แล้ว
โดยในปัจจุบันนี้ มีผู้ที่ใช้ชื่อว่า “Abade” เป็นคนนำมาแสดงในเว็บ forexfactory.com เพื่อให้นักเทรดได้ทดลองนำไปใช้ ถือว่าได้รับความนิยมอย่างสูงทีเดียว เพราะเป็นระบบเทรดที่ใช้งานง่ายเหมาะกับเทรดเดอร์ที่ชอบเล่นสั้น และช่วยให้ทำกำไรได้สม่ำเสมอดีมากเช่นกัน
สารบัญบทความ click เพื่อเลือกอ่าน !!
ข้อมูลเบื้องต้น
ระบบเทรด M1 Countertrend Scalping เป็นกลยุทธ์การเทรดระยะสั้นที่มุ่งเน้นไปที่การจับจังหวะการย่อตัวของราคาในตลาด กลยุทธ์นี้ใช้ตัวชี้วัดทางเทคนิคเพียงแค่สองตัวเท่านั้นคือ Moving Average และ RSI เพื่อระบุจุดเข้าและจุดออกการเทรด
M1 Countertrend Scalping เป็นระบบเทรดที่เหมาะสำหรับเทรดเดอร์ที่มีประสบการณ์ ที่เข้าใจตลาด Forex พอสมควร โดยใช้กรอบเวลา M1 (หนึ่งนาที) เทรดบนคู่สกุลเงินที่มีสภาพคล่องสูง เช่น EUR/USD, GBP/USD, USD/JPY เป็นต้น
ตัวชี้วัดที่ใช้
ระบบเทรด M1 Countertrend Scalping ที่เหมาะกับการเทรดระยะสั้น จะใช้ Indicator เพียง 2 ตัวเท่านั้น คือ
- Moving Average (MA): ใช้ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 9, 20 และ 50 วัน แบบ EMA เพื่อระบุแนวโน้มระยะสั้นและระยะกลาง
- Relative Strength Index (RSI): ใช้เพื่อวัดแรงซื้อแรงขายและระบุภาวะซื้อมากเกินไปและขายมากเกินไป
ตัวชี้วัดทั้งสองตัวนี้ มีให้ใช้งานได้ฟรีบนแพลตฟอร์มการเทรดทุกตัวอยู่แล้ว เทรดเดอร์จึงสามารถทดสอบผลงานของระบบเทรด M1 Countertrend Scalping Strategy ได้ตลอดเวลา
Moving Average (MA)
Moving Average (MA) หรือ เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ เป็นเครื่องมือวิเคราะห์ทางเทคนิคที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในตลาด Forex ตัวชี้วัดอย่าง MA ทำหน้าที่คำนวณค่าเฉลี่ยราคาคู่เงินหรือสินทรัพย์อื่น ๆ ในช่วงเวลาที่กำหนด โดยทั่วไปแล้ว MA มักใช้เพื่อการวิเคราะห์ ดังนี้
- ระบุแนวโน้ม: เส้น MA ที่ชี้ขึ้น บ่งบอกถึงแนวโน้มขาขึ้น ในขณะที่เส้น MA ที่ชี้ลง บ่งบอกถึงแนวโน้มขาลง
- วัดแรงซื้อแรงขาย: เส้น MA สามารถใช้เพื่อวัดแรงซื้อแรงขายในตลาดได้ เมื่อตลาดที่มีแรงซื้อสูงจะมีราคาอยู่เหนือเส้น MA ในขณะที่ตลาดที่มีแรงขายสูงจะมีราคาอยู่ต่ำกว่าเส้น MA
- ระบุจุดเข้าออกการเทรด: สามารถใช้เส้น MA เป็นจุดเข้าออกการเทรดได้ เช่น ซื้อเมื่อราคาข้ามเส้น MA ขาขึ้น หรือขายเมื่อราคาข้ามเส้น MA ขาลง
ประเภทของ Moving Average
มีประเภทของเส้น Moving Average (MA) หลายประเภทที่นิยมใช้กัน แต่ละประเภทก็จะมีวิธีการคำนวณและคุณสมบัติที่แตกต่างกัน โดยพอจะแบ่งประเภทของเส้น MA ได้ดังนี้
- Simple Moving Average (SMA): SMA เป็น MA ประเภทที่ง่ายที่สุดในการคำนวณ SMA คำนวณโดยการหาค่าเฉลี่ยของราคาปิดในช่วงเวลาที่กำหนด
- Exponential Moving Average (EMA): EMA จะตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาได้รวดเร็วกว่า SMA เพราะ EMA ให้ความสำคัญกับราคาล่าสุดมากกว่าราคาเก่า
- Weighted Moving Average (WMA): เส้น WMA ให้ความสำคัญกับราคาบางจุดในช่วงเวลาที่กำหนด มากกว่าราคาอื่น ๆ ตัวอย่างเช่น WMA อาจให้ความสำคัญกับราคาปิดมากกว่าราคาเปิด เป็นต้น
วิธีการนำ Moving Average มาใช้
มีวิธีการเอาเส้น Moving Average มาใช้อย่างง่าย ๆ เพียงแค่เข้าไปใน MT4 / MT5 หรือแพลตฟอร์มเทรดที่ใช้อยู่ ตัวไหนก็มีทั้งนั้น เข้าไปที่ Indicator เลือกหมวดหมู่ Trend แล้วจิ้มเลือกตัว MA มาใช้งานได้เลย อยากได้กี่เส้นก็ให้ทำซ้ำแบบเดิม แล้วค่อยมาปรับเปลี่ยนตามช่วงเวลาที่ต้องการได้เลย
Relative Strength Index (RSI)
RSI หรือ ดัชนีความแข็งแรงสัมพัทธ์ เป็นตัวชี้วัดทางเทคนิคที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในตลาดการเงิน RSI วัดแรงซื้อ-แรงขายของสินทรัพย์ โดยเปรียบเทียบขนาดการเปลี่ยนแปลงราคาล่าสุดกับการเปลี่ยนแปลงราคาในอดีต RSI มักใช้เพื่อวิเคราะห์ Forex ดังนี้
- ระบุภาวะการซื้อขาย: RSI ที่สูงบ่งบอกถึงภาวะซื้อมากเกินไป ในขณะที่ RSI ที่ต่ำบ่งบอกถึงภาวะขายมากเกินไป
- ยืนยันแนวโน้ม: RSI สามารถใช้ยืนยันแนวโน้มของราคาได้ ตัวอย่างเช่น หากราคาคู่เงินมีแนวโน้มขาขึ้น RSI ก็ควรมีแนวโน้มขาขึ้นเช่นกัน
- ระบุจุดเข้าออกการเทรด: ใช้ RSI เป็นจุดเข้าออกการเทรดได้ ตัวอย่างเช่น อาจขายเมื่อ RSI อยู่ในภาวะซื้อมากเกินไป หรือซื้อเมื่อ RSI อยู่ในภาวะขายมากเกินไป
สูตรการคำนวณ RSI
ตัวชี้วัด Relative Strength Index หรือ RSI มีการคำนวณโดยใช้สูตรดังต่อไปนี้:
RSI = 100 – (100 / (1 + RS))
โดยที่:
- RS = Average Upward Close / Average Downward Close
- Average Upward Close = ค่าเฉลี่ยของการเปลี่ยนแปลงราคาปิดที่เพิ่มขึ้นในช่วงเวลาที่กำหนด
- Average Downward Close = ค่าเฉลี่ยของการเปลี่ยนแปลงราคาปิดที่ลดลงในช่วงเวลาที่กำหนด
การตีความค่า RSI
โดยทั่วไปจะมีการกำหนดให้ RSI มีค่าอยู่ระหว่าง 0 ถึง 100 และมีหลักในการวิเคราะห์ ดังนี้
- RSI ที่สูงกว่า 70: บ่งบอกถึงภาวะซื้อมากเกินไป อาจเป็นสัญญาณว่าราคาอาจใกล้ถึงจุดสูงสุด
- RSI ที่ต่ำกว่า 30: บ่งบอกถึงภาวะขายมากเกินไป อาจเป็นสัญญาณว่าราคาอาจใกล้ถึงจุดต่ำสุด
วิธีการนำ RSI มาใช้
มีวิธีการเอา RSI มาใช้เพื่อช่วยวิเคราะห์ราคา Forex อย่างง่าย ๆ โดยเข้าไปเลือกใน MT4 / MT5 หรือแพลตฟอร์มเทรดที่ใช้อยู่ ให้เข้าไปที่ Indicator แล้วเลือกหมวดหมู่ Oscillators ให้จิ้มเลือกตัว RSI มาใช้งานได้เลย และไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนค่าใด ๆ เลย เพราะค่าที่ตั้งเอาไว้ดีที่สุดแล้ว
เงื่อนไขการเข้าเทรด
ระบบเทรด M1 Countertrend Scalping มีเงื่อนไขการเข้าเทรดที่เข้าใจง่าย เมื่อใช้กับช่วงเวลา M1 ก็จะมีโอกาสในการเข้าเทรดมากยิ่งขึ้น โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขดังนี้
การเข้า Buy:
- ราคาปิดอยู่ต่ำกว่า MA ทั้งหมด (9, 20 และ 50)
- ราคาปิดอยู่ห่างจาก MA เพียงพอ (ระยะห่างมากขึ้น = ผลกำไรมากขึ้น)
- RSI อยู่ในโซน oversold (ต่ำกว่า 30)
การเข้า Sell:
- ราคาปิดอยู่เหนือ MA ทั้งหมด (9, 20 และ 50)
- ราคาปิดอยู่ห่างจาก MA เพียงพอ (ระยะห่างมากขึ้น = ผลกำไรมากขึ้น)
- RSI อยู่ในโซน overbought (สูงกว่า 70)
การออกจากการเทรด
- ปิดสถานะเมื่อราคาแตะ MA ใด ๆ
- ปิดสถานะเมื่อ RSI กลับเข้าสู่โซนปกติ (ระหว่าง 30 ถึง 70)
- ตั้งค่า stop-loss ไว้ด้านล่างราคาเข้า Buy สำหรับ Buy orders และด้านบนราคาเข้า Sell สำหรับ Sell orders
- ตั้งค่า take-profit ไว้ด้านบนราคาเข้า Buy สำหรับ Buy orders และด้านล่างราคาเข้า Sell สำหรับ Sell orders
หมายเหตุ: ระยะห่างของราคากับเส้น EMA ที่ “ดีเพียงพอ” คือเท่าไหร่นั้น ขอให้กำหนดโดยดุลยพินิจของคุณเอง และขึ้นอยู่กับสภาวะของตลาดในตอนนั้นด้วย (ความผันผวนและโครงสร้าง) คุณอาจใช้แนวรับและแนวต้าน โซนอุปสงค์/อุปทาน ระดับของราคาตามทฤษฎีคลื่น ฯลฯ อย่างไรก็ได้ ตามประสบการณ์ที่มี
สิ่งสำคัญมาก: อย่าซื้อขายหากราคายังคง “วิ่งอยู่” ภายในระหว่าง EMA ทั้งสามเส้น
ตัวอย่างการเทรด EUR/USD
การเข้า Buy:
- ราคาปิดอยู่ที่ 1.0800 ต่ำกว่า MA 9 (1.0805), MA 20 (1.0810) และ MA 50 (1.0815)
- ราคาปิดอยู่ห่างจาก MA 20 ประมาณ 10 pips
- RSI อยู่ที่ 25 ในโซน oversold
การเข้า Sell:
- ราคาปิดอยู่ที่ 1.0860 เหนือ MA 9 (1.0850), MA 20 (1.0843) และ MA 50 (1.0835)
- ราคาปิดอยู่ห่างจาก MA 20 ประมาณ 20 pips
- RSI อยู่ที่ 78 ในโซน overbought
M1 Countertrend Scalping Strategy เป็นกลยุทธ์การเทรดระยะสั้น ระบบเทรดนี้ใช้ตัวชี้วัดทางเทคนิคเพียงแค่สองตัวเพื่อระบุจุดเข้าออกการเทรด จึงเหมาะสำหรับเทรดเดอร์ที่มีประสบการณ์และเข้าใจตลาด Forex ดีในระดับหนึ่ง
จุดอ่อนของระบบเทรด
ระบบเทรด M1 Countertrend Scalping ยังมีจุดอ่อนที่เป็นข้อควรระวังอย่างมีนัยสำคัญอยู่ คือ
- มีความเสี่ยงสูง: กลยุทธ์นี้มีความเสี่ยงสูงและอาจสูญเสียเงินได้อย่างรวดเร็ว
- ต้องมี SL / TP: สิ่งสำคัญคือต้องใช้การจัดการความเสี่ยงอย่างเหมาะสม เช่น การตั้งค่า stop-loss และ take-profit
- มีประสบการณ์ในตลาด Forex: กลยุทธ์นี้ไม่เหมาะสำหรับเทรดเดอร์มือใหม่ จึงเหมาะสมกับเทรดเดอร์ที่มีประสบการณ์ในตลาด Forex มากกว่า
ประสบการณ์ของ “Abade”
ต่อไปนี้คือ ตัวอย่างการใช้ระบบเทรด M1 Countertrend Scalping Strategy ของผู้ที่ใช้ชื่อว่า “Abade” ที่ได้เสนอระบบเทรดนี้ใน Forume ของเว็บไซต์ Forexfactory.com จะขอยกเอามานำเสนอเพื่อเป็นตัวอย่าง อาจจะช่วยให้เข้าใจวิธีการใช้งานระบบเทรด M1 Countertrend Scalping Strategy ให้ดียิ่งขึ้นได้
มุมมองของ “Abade” เกี่ยวกับการเทรด Forex
แนวคิดที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของราคาในตลาด Forex ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ทำให้มีโอกาสที่ดีในการเข้าไปลงทุนได้ ดังนี้
- เรารู้ว่าราคามีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นจึงสมเหตุสมผลที่จะใช้ประโยชน์จากการเคลื่อนไหวประเภทนี้ อย่างเช่นราคาที่วิ่งแบบ over trends หรือ over momentum เป็นต้น
- เรารู้ว่าเป็นเรื่องยากที่จะกำหนดว่าเวลาไหนที่ราคาจะวิ่ง ดังนั้นเราจึงใช้กฎการเข้าเทรดแบบ “ไม่ต้องคิดมาก” เพื่อหลีกเลี่ยงอาการปวดหัว ในยามที่เทรดแพ้
- เรารู้ว่าระบบ grid systems มีแนวโน้มที่จะพังและทำให้ล้างบัญชีได้ ดังนั้นเราจึงเพิ่มการดู price action ก่อนการเทรดด้วย เพื่อให้ได้ “ความได้เปรียบ” เหนือตลาด
- บนสมมติฐานคือ Breakouts และ trends จะเกิดขึ้นระยะสั้นในกรอบเวลาที่ต่ำกว่า (กำหนดโดยการสัมผัสเส้น 9, 20 และ 50 EMA)
- คู่สกุลเงิน EURUSD หรือ GBPUSD จะเหมาะสมกว่า บนกรอบเวลา M1 (หนึ่งนาที) ทั้งนี้สเปรดควรต่ำพอที่จะใช้งานได้ด้วย
กฎการเทรดที่ต้องมี
- หลีกเลี่ยงการซื้อขาย “ก่อน” หรือในช่วงเวลาข่าว
- ยึดติดกับกรอบเวลาที่ต่ำกว่าและทีละกราฟ (M1, M5)
การเข้าเทรด
- Buy: ราคาปิดต้องอยู่ต่ำกว่าเส้น EMA ทั้ง 9, 20 และ 50 ทั้งหมด และมีระยะห่าง “ดีพอ” จากค่าเฉลี่ยเหล่านี้ (ระยะทางมากขึ้น = กำไรมากขึ้น)
- Sell: ราคาปิดต้องอยู่เหนือ EMA 9, 20 และ 50 ทั้งหมด และมีระยะห่าง “ดีพอ” จากค่าเฉลี่ยเหล่านี้ (ระยะทางมากขึ้น = กำไรมากขึ้น)
การเทรดเพิ่มเมื่อราคายังผิดทาง
หากราคาวิ่งตรงข้ามกับออเดอร์ที่เปิดก่อนหน้านี้ ให้เริ่มส่งคำสั่งซื้อใหม่ตามระบบเทรด M1 Countertrend Scalping หลักการวิเคราะห์คือเส้น EMA9 ที่ทิ้งดิ่งเป็นแนวตั้ง ตัดผ่านระดับแนวนอนของคำสั่งซื้อขายล่าสุดของคุณ ดูตัวอย่าง:
หมายเหตุ: หลักฐานที่เคยเกิดขึ้นในอดีตคือ ราคายิ่งวิ่งห่างมากโอกาสที่จะกลับไปสู่เส้นค่าเฉลี่ย EMA ก็ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น หากคุณไม่อยู่ในช่วงที่ท้อใจไปก่อน คุณน่าจะทำกำไรทุกวงสวิงด้วยระบบนี้ เนื่องจากคุณมีแนวโน้มว่าจะอยู่ในช่วงที่ระบบเทรด M1 Countertrend Scalping Strategy กลับมาทำงานได้ดีที่สุด
การออกจากการเทรด
การออกจากการเทรด ออกทันทีที่ราคาแตะ EMA ที่ใกล้ที่สุด ซึ่งจะช่วยให้คุณออกได้กำไร (อาจเป็น 9, 20, 50 หรือ 200 EMA) แต่ถ้าเป็นช่วงที่ตลาดไม่ค่อยวิ่ง การแตะเส้น EMA20 เป็นตัวเลือกที่ยอดเยี่ยม
หากยังไม่สามารถปิดออเดอร์ได้ และมีออเดอร์ที่ขาดทุนหลายตำแหน่ง คุณอาจต้องรอให้แตะ EMA50 หรือ EMA200 แทน เนื่องจากการซื้อขายส่วนใหญ่ของคุณจะทำกำไรได้เมื่อถึงตอนนั้น แต่เหตุการณ์กรณีนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก การแตะ EMA9 เป็นตัวเลือกที่ดีกว่า
สำคัญ! อย่าปล่อยให้การซื้อขายดำเนินไปในขณะที่คุณเสียสมาธิหรือแย่กว่านั้น คือ “การถือข้ามคืน” ไม่ควรอย่างยิ่ง
ทีมงาน: forexthai.in.th