Forexthai.in.th ย่อให้
- Breakout คือการที่ราคาทะลุแนวรับหรือแนวต้าน และสามารถใช้เป็นสัญญาณในการเปิดออเดอร์เทรด
- Breakout มี 2 ประเภท ได้แก่ Breakout ภายในแท่งเทียน และ Breakout ที่แนวรับ-แนวต้าน
- การเทรด Breakout ช่วยให้มีโอกาสทำกำไรก้อนใหญ่ได้ แต่ต้องระวัง False Breakout
- ควรดูสัญญาณจาก Volume และ Indicator อื่น ๆ ประกอบ เพื่อลดความเสี่ยง
- การเทรดแบบ Breakout ที่มีประสิทธิภาพต้องอาศัยความเข้าใจในรูปแบบและพฤติกรรมราคา รวมถึงการวิเคราะห์ปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย
Breakout (ฝ่าวงล้อม) ในคำศัพย์ forex หมายถึง การเคลื่อนไหวของราคาสกุลเงินหรือสินทรัพย์ที่มีการขึ้นหรือลงอย่างรวดเร็วเกินกว่าระดับราคาที่คาดการณ์ไว้ โดยทั่วไปแล้ว Breakout จะถูกนำมาใช้ในการวิเคราะห์กราฟแท่งเทียน (Candlestick Chart) เพื่อหาจุดที่เหมาะสมในการเปิด-ปิดสัญญาณซื้อขาย (Trading Signal)
- โดยเน้นไปที่การศึกษาแนวโน้มของราคา และการสังเกตตัวชี้วัดทางเทคนิคต่างๆ เช่น
- แบบจำลองกราฟ (Chart pattern)
- ระดับแนวรับ-แนวต้านทางราคา (Support and Resistance Level)
- เพื่อเข้าใจแนวโน้มของราคาและหาจุดที่เหมาะสมในการเปิด-ปิดสัญญาณซื้อขายในตลาด Forex หรือตลาดอื่นๆ อีกด้วย
สารบัญบทความ click เพื่อเลือกอ่าน !!
Breakout (BO) คืออะไร
Breakout ในทางหุ้น หรือ Forex คือการที่กราฟ มีราคาทะลุแนวรับ หรือแนวต้าน (ราคาวิ่งทะลุกรอบราคา) ซึ่งภาพของมันก็เหมือนกับความหมายที่แปลตรงๆ จากภาษาอังกฤษ คือ “การฝ่าวงล้อม” นั่นเอง
- การเกิด Break Out จะเกิดขึ้นเมื่อราคาเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ และหลังจากนั้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวทะลุกรอบจึงเรียกว่า Break Out
- สามารถจับสัญญาณการเกิดได้ด้วยเครื่องมือ หรือ Indicator หลายชนิดด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ เทรนไลน์ การใช้ ฟิโบแนนชี่ (Fibonacci) หรือ RSI เป็นต้น
การนำหลักการ Breakout ไปใช้เทรด
ในทางเทคนิคและการนำไปใช้ก็คือ ใช้เป็น trade setup แบบหนึ่งที่เทรดเดอร์ Forex ใช้ โดยจะซื้อเมื่อกราฟทะลุแนวรับ-แนวต้าน กรอบราคา หรือแนวการตัดสินใจที่วางเอาไว้ 1
หลายคนชอบใช้ setup นี้ เพราะมันง่ายครับ เป็นวิธีซื้อที่ง่ายที่สุดแล้ว ต่างกับซื้อตอนย่อ ซึ่งปวดหัวกว่ามาก เพราะไม่รู้ว่ามันจะย่อไปถึงไหนอีก
โดยปกติช่วงที่มันจะ Break Out ก็ได้แก่ช่วงที่มีการออกข่าวกล่องแดงครับ เตรียมกระสุนรอได้เลย เปิดไม้รัวๆ ส่วนใหญ่ก็จะใช้เวลาเบรคเอาท์ประมาณ 15 นาทีก็จะหมดแรง หรืออาจเป็นเทรนไปต่อได้ ถ้าข่าวนี้เป็นข่าวที่แรงมากๆ อย่างเช่น ข่าว FED ปรับอัตราดอกเบี้ย เป็นต้น
วิธีดูจุดซื้อจาก Break Out ! เครดิต By ศาสตร์เทรดหุ้นจักรพรรดิ Focus นาทีที่ 2:16-10:38
ประเภทของ Breakout
Breakout มี 2 ประเภท ได้แก่
- Breakout ภายในแท่งเทียน: หมายถึง Breakout ในระยะเวลาสั้นๆ เกิดภายใน “กราฟแท่งเทียน” เหมาะสำหรับเทรดเดอร์ที่ซื้อขายอย่างรวดเร็ว หรือ เทรดเดอร์ประเภท Scalping ที่ใช้ Timeframe 1-5 นาที
- Breakout ที่แนวรับ-แนวต้าน: เป็นเบรคเอาท์ ที่ส่วนใหญ่เราใช้ทำกำไรหนักๆ ที่เข้าใจกันส่วนใหญ่ ประกอบด้วย 2 แบบคือ
- Breakout ที่แนวรับ-แนวต้าน เพื่อแสดงการ “เปลี่ยนแปลงแนวโน้ม” (เปลี่ยน Trend) เช่น เปลี่ยนจากเทรนขาลงเป็นขาขึ้น
- Breakout ที่แนวรับ-แนวต้าน เพื่อแสดงการ “ไปต่อของแนวโน้ม” ก็คือมีการพักตัวโดยเป็น side way ขณะหนึ่งแล้วไปต่อตาม Trend เดิม
Breakout ประเภทรูปแบบสามเหลี่ยม
การวิเคราะห์ข้อมูลจากกราฟในทางเทคนิค (Technicial Analysis, TA) นอกจากรูปแบบ Breakout หรือการฝ่าวงล้อมของราคา ภายในแท่งเทียน และที่แนวรับ-แนวต้านแล้ว ยังมีรูปแบบการฝ่าวงล้อมในแบบอื่น ๆ อีก ทั้งนี้จะขอยกตัวอย่างการฝ่าวงล้อม ในรูปแบบสามเหลี่ยม หรือที่เรียกกันว่า Breakout Triangle โดยจะมีชื่อเรียกทั้ง 3 แบบ ดังต่อไปนี้
- Ascending triangle
- Descending triangle
- Symmetrical triangle
โดยทั้ง 3 รูปแบบ จะมีรายละเอียดแต่ละหัวข้อดังต่อไปนี้ คือ
1. Ascending Triangle (สามเหลี่ยมขาขึ้น Bullish Pattern)
- เกิดจากเส้น 2 เส้นคือ เส้นแนวต้าน และเส้น Uptrend Line เมื่อเราตีสองเส้นนี้ก็จะทำให้เราได้กรอบที่เอาไว้ใช้ในการเทรด
- แต่พอถึงระยะหนึ่ง เส้นสองเส้นนี้จะเริ่มบีบเข้าหากัน และกรอบนั้นก็จะแคบลง ภายในกรอบสามเหลี่ยม
- เมื่อถึงจุดหนึ่ง ราคาจะฝ่าวงล้อม ไม่ขึ้น ก็ลง
2. Descending Triangle (สามเหลี่ยมขาลง หรือ Bearish Pattern)
- บางตำราเรียกสามเหลี่ยมมุมก้ม เกิดจาก เส้นแนวรับ และเส้น Downtrend Line ลาดชันลงมาบรรจบกันเป็นรูปสามเหลี่ยม
- แรงขายที่มีมากในตลาดทำให้กราฟมีทิศทางลง (Bearish)
- เมื่อถึงจุดหนึ่ง ราคาจะฝ่าวงล้อม ไม่ขึ้น ก็ลง
3. Symmetrical Triangle (สามเหลี่ยมสมมาตร Sideway Pattern)
- เป็นการแสดงแนวโน้มขาขึ้น และ แนวโน้มขาลง ในลักษณะสามเหลี่ยมสมมาตร
- เกิดขึ้นได้ทั้งตลาดขาขึ้นและขาลงเป็นลักษณะที่ “แนวต้านที่ลดลงมาบรรจบการแนวรับที่เพิ่มสูงขึ้น” จนเป็นรูปสามเหลี่ยม สมมาตร (ดังรูปข้างต้น)
ในส่วนของการทำกำไร ให้ดูได้จาก “หากราคามีการฝ่าวงล้อมไปด้านไหน ให้เข้าเทรดด้านนั้น”
เช่น ฝ่าวงล้อมราคาวิ่งขึ้น ให้ Buy ตามน้ำไปได้เลย กลับกัน หากราคาวิ่งลง ให้เปิด Sell ตามไปได้เลย อย่าลืม หากราคามีการกลับตัว ให้ปิด Order (Stop Loss) ไปก่อน จากนั้นค่อยหาจังหวะเข้าเทรดใหม่
ระวัง Breakout หลอก (False Breakout)
ในการเทรดแบบใช้เทคนิค Breakout ปัญหาคือ ไม่ใช่ทุก Breakout จะนำไปสู่การเคลื่อนไหวของราคาอย่างชัดเจนเสมอไป บางครั้ง Breakout ก็อาจจะเป็นแค่การหลอกล่อ หรือที่เรียกว่า “ Breakout หลอก” นั่นเองครับ
False Breakout คืออะไร แล้วส่งผลอย่างไรต่อการเทรด Forex?
False Break มักจะเกิดขึ้นเวลาที่เราเทรดตาม Breakout คือ เมื่อราคาสามารถผ่านแนวรับหรือแนวต้านสำคัญออกไปได้ พอเราคิดว่ามันน่าจะไปต่อ เลยรีบเข้าเทรดตาม แต่ราคากลับ “เบรคหลอก แล้ววิ่งย้อนกลับเข้าสู่กรอบเดิม” ซะงั้น ทำเอาเทรดเดอร์หลายๆ คนเข้าเทรดผิดทาง เสียเงินเสียทองไปโดยใช่เหตุ
ที่แย่ไปกว่านั้น บางครั้ง False Break ก็มักจะมาหลอกล่อให้เราวาง Stop Loss กันผิดที่ผิดทาง แล้วโดนกวาดไปเน้นๆ เขาเรียกว่าเป็น Stop Hunting ซึ่งส่วนใหญ่เป็นฝีมือของเจ้าตลาดที่เห็นคำสั่งซื้อขายของรายย่อยอย่างเรา พอรู้ว่าวาง Stop Loss ไว้ตรงไหน ก็จะจงใจดันราคาไปให้ถึงจุดนั้น เพื่อ “กวาดออเดอร์ของรายย่อยให้ได้ราคาถูกหรือแพงที่สุด” นั่นเอง
วิธีสังเกตและป้องกัน False Breakout
แม้ว่าจะไม่มีวิธีไหนที่รับประกันได้ 100% ว่าเราจะแก้ปัญหา False Breakout ได้ แต่ก็มีเทคนิคที่ช่วยลดความเสี่ยงจากการโดนหลอกได้ในระดับหนึ่ง เช่น
- สังเกตปริมาณการซื้อขาย (Volume)
หากเป็น Breakout จริง ปริมาณการซื้อขายมักจะเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน แต่ถ้าเป็น False Breakout ปริมาณการซื้อขายจะไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน
- ดูแนวรับแนวต้านหลายๆ ระดับ
อย่ามองแค่แนวรับแนวต้านเดียว ให้สังเกตว่าราคาทะลุผ่านแนวรับแนวต้านสำคัญในหลายๆ ระดับหรือไม่ ถ้าผ่านได้แค่ 1-2 ระดับ อาจจะเป็นแค่การเบรคหลอกได้
- วิธีการเทรดแบบ Top-Down Analysis หรือการดูกราฟหลายไทม์เฟรม
ควรยืนยันสัญญาณการเบรคเอาท์ด้วยกราฟ “อย่างน้อย 2 ไทม์เฟรม” ก่อนตัดสินใจเปิดออเดอร์เสมอ เพราะแนวรับหรือแนวต้านอาจจะยังไม่ได้ถูกทะลุจริง และการเบรคในไทม์เฟรมที่เล็กกว่า อาจจะเป็นแค่ False Break เท่านั้น
- การลาก Trendline โดยอิงจากปลายไส้
การลาก Trendline โดยอิงจากปลายไส้เทียนแทนราคาปิด เพราะปลายไส้ในกราฟใหญ่ๆ นั้น ก็คือส่วนที่เป็นตัวเทียนในกราฟที่เล็กลงนั่นเอง
- รอคอนเฟิร์ม
อย่ารีบเข้าเทรดทันทีที่เห็น Breakout ให้รอสังเกตสัญญาณยืนยันอื่นๆ เช่น
-
- กราฟแท่งเทียน
- อินดิเคเตอร์
- การ Retest บริเวณ Breakout
เพื่อดูว่าราคายังคงอยู่เหนือแนวต้านหรือต่ำกว่าแนวรับต่อไปหรือไม่
ประโยชน์ของการเทรดแบบใช้ค่า Breakout
1.ช่วยให้เราใช้เป็นข้อมูลในการเปิดออเดอร์ได้
ในทางด้านการวิเคราะห์ทางเทคนิคแล้ว การใช้ Break Out นั้น ใช้เพื่อเป็นสัญญาณเข้าเทรด การเรียนรู้การใช้งาน Break out ในประโยชน์ข้อแรกนี้ถือเป็นประโยชน์ ที่มีความสำคัญมากๆ
เพราะว่า เมื่อราคาเกิดการ Breakout แล้ว คุณสามารถเปิดออร์เดอร์เพื่อจะทำการ follow ราคาตามได้เลย เพราะโดยปกติ ราคาเมื่อทำการ Breakout แล้ว ราคาจะวิ่งต่อไปค่อนข้างที่จะแรงมาก
2.ช่วยให้เราสามารถทำกำไรก้อนใหญ่ได้
แน่นอนว่าเมื่อเราเกิดการ Breakout แล้ว เราจะไม่รู้เลยว่าราคานั้นจะวิ่งขึ้น หรือว่าวิ่งลงไปที่ตรงไหน ในราคาเท่าไหร่ ดังนั้นถ้าคุณเปิดออเดอร์ตามได้ทัน เช่น คุณอาจเลือกใช้คำสั่ง “Pending Order” แบบนี้คุณก็สามารถที่จะทำการ follow ราคาตามไปได้ทันที ส่งผลให้คุณนั้นสามารถทำกำไรก้อนใหญ่ได้นั่นเอง
* การเทรด Breakout อาจจะเจอข้อผิดพลาดได้เช่นกัน แม้ว่าจะทำให้ได้โอกาสในการทำกำไรขนาดใหญ่ แต่ว่าการวิเคราะห์ Breakout ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสามารถทำกำไรได้ก้อนใหญ่ทุกครั้ง ซึ่งขึ้นอยู่กับมุมมองของนักลงทุนด้วยว่า ได้ทำความเข้าใจรูปแบบและพฤติกรรมของราคามากขนาดไหน
สิ่งที่เราควรคำนึงถึงเมื่อใช้ Breakout
1. ดู Volume ร่วมด้วย
การเกิด Breakout นั้น สิ่งที่เราอาจต้องดูควบคู่กันไปด้วยคือเรื่องของ Volume เพื่อดูว่าการเกิด Breakout ตัวนั้นเป็นการเกิดขึ้นอย่างแท้จริง หรือว่าเกิดจากการที่ คนทำราคาทำราคาหลอกเราเพื่อให้ไล่ราคาตามหรือไม่
เพราะว่าถ้าเป็นดังเช่นกรณีหลังนี้ เท่ากับว่าหากเราไปทำการเปิดสัญญาตามไปโดยไม่รู้ตัว ผลที่ตามมาคือเราจะขาดทุนอย่างหนักเลยนั่นเอง ดังนั้นเมื่อราคาเกิด Breakout แล้ว อย่าลืมดูในเรื่องของ “Volume” ประกอบด้วยเสมอ
2. ใช้ Indicator อื่นเพื่อยืนยัน
นอกจากนี้ เราจะยังสามารถดูสัญญาณเบรคเอาท์ควบคู่กับการเทรดอย่างอื่น ๆ เช่น การใช้ Moving average, Bollinger Band หรือ Fibonnaci Trading ในการเทรด
เพราะว่า การเทรดที่ได้ผลดีนั้น สิ่งที่เราต้องให้ความสนใจอย่างหนึ่งคือ “การเกิดสัญญาณร่วม” เราไม่สามารถใช้หลักการเทรดเพียงอย่างอย่างเดียวมาตัดสินใจได้ เราจึงต้องใช้การยืนยันสัญญาณเทรดจากเครื่องมืออื่น ๆ นั่นเอง
บทสรุป Breakout กับการเทรด
Breakout คือ รูปแบบของราคาที่ทำให้เราสามารถอาศัยประโยชน์ของมันจากการเทรด เพื่อใช้ในการบอกสัญญาณให้จังหวะการเทรด เพราะว่าเมื่อคุณสามารถหาราคา Breakout ที่แท้จริงเจอแล้ว นั่นหมายถึงคุณสามารถทำกำไรได้ และเป็นกำไรก้อนใหญ่ เพราะการเกิด Break Out นั้นจะเกิดตั้งแต่ช่วงต้นเทรนด์
ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้การเทรด Break Out นั้นสามารถสร้าง Risk : Reward ที่ดีในการลงทุน และสามารถสร้างผลตอบแทนอย่างงามในการที่จะหารูปแบบของ Trade Setup ที่เกิดขึ้นในรูปแบบ Break Out อย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว
ทีมงาน: forexthai.in.th
References
- investopedia, Breakout definition ที่มา: https://www.investopedia.com/terms/b/breakout.asp สืบค้นเมื่อ 9/10/2019