แนวรับ แนวต้าน (Support & Resistance) ศัพท์คำแรกที่เทรดเดอร์ทุกคนจะต้องรู้จัก เข้าใจและใช้เป็น เพราะคือพื้นฐานของการเทรดด้วยเทคนิค ก่อนที่จะต่อยอดไปยังเทคนิคอื่น ๆ ไม่ว่าจะเทรดด้วยเทคนิคหรือทฤษฎีใด มักจะมีคำนี้อยู่ด้วยเสมอ นั่นก็คือ…
สารบัญบทความ click เพื่อเลือกอ่าน !!
แนวรับ แนวต้าน (Support & Resistance) คืออะไร
มาทำความเข้าใจกันก่อน ว่าจริง ๆ แล้ว มันคืออะไรและมีความสำคัญอย่างไรกกันแน่
- แนวรับ (Support) คือจุดที่มีผู้คนรอซื้อเป็นจำนวนมาก ราคาไม่สามารถผ่านไปได้
- แนวต้าน (Resistance) คือจุดที่มีผู้คนรอขายเป็นจำนวนมาก ราคาไม่สามารถผ่านไปได้เช่นกัน
เทรดเดอร์ในตลาดจึงใช้แนวรับเป็นจุดในการเข้า Buy และใช้แนวต้านเป็นจุดในการเข้า Sell คือซื้อที่แนวรับแล้วขายที่แนวต้าน เป็นบริเวณในการเข้าเทรดในราคาดีที่สุด และควรหลีกเลี่ยงการซื้อที่แนวต้านและขายที่แนวรับ เพราะเป็นจุดเข้าที่ราคาไม่ดีและเสี่ยงต่อการโดนลาก
ตลาด Forex มีคนรอซื้อขายอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่จะต้องหาจุดที่คนซื้อจำนวนมาก และราคาไม่สามารถผ่านไปได้
วิธีหาแนวรับ แนวต้าน แต่ละแบบ
- บริเวณมีการเทสของราคาบ่อย ๆ โดยตั้งแต่สองครั้งขึ้นไป จึงมีความน่าจะเป็นที่จะเป็นแนวรับหรือแนวต้าน ส่วนใหญ่จะเลือกใช้เส้นแนวนอนในการตี เพื่อดูการเทสของราคา เมื่อไหร่ก็ตามที่ราคาเข้าใกล้บริเวณแนวรับหรือแนวต้าน แล้วมีสัญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง นั่นเป็นสัญญาณในการยืนยันเข้าเทรด
- แนวรับเปลี่ยนเป็นแนวต้านและแนวต้านเปลี่ยนเป็นแนวรับ ในแนวโน้มขาขึ้นแนวรับจะแข็งแกร่งกว่าแนวต้านเสมอ และในแนวโน้มขาลงแนวต้านจะแข็งแกร่งกว่าแนวรับเช่นกัน เมื่อแนวรับหรือแนวต้านใดถูกทำลาย ในแนวโน้มขาขึ้นแนวต้านจะเปลี่ยนเป็นแนวรับ และในแนวโน้มขาลงแนวรับจะเปลี่ยนเป็นแนวต้าน เพราะอาจจะมีผู้ที่โดนลากรอปิดเมื่อรู้ว่าผิดทาง หรือเทรดเดอร์อีกจำนวนหนึ่งที่รอเข้าเมื่อเห็นแนวโน้มที่ชัดเจน
- แนวต้านจิตวิทยา รายใหญ่ในตลาด ส่วนมากมักจะไม่ใช้การเทรด้วยมือ แต่ส่วนใหญ่จะใช้ AI หรือระบบเทรดอัตโนมัติ ดังนั้นการที่จะตั้งโปรแกรมในการเข้าเทรด เพื่อให้ง่ายต่อการวางออเดอร์ล่วงหน้า การใส่เลขในระบบที่เป็นเลขกลม ๆ จึงเป็นเรื่องง่าย บริเวณราคาที่ลงท้ายด้วยเลขกลม ๆ อาจจะเป็นแนวรับแนวต้านทางจิตวิทยาได้ ตัวอย่าง EUR/USD 20000 1.25000 เป็นต้น
- จุดสูงสุดหรือจุดต่ำสุด เป็นจุดที่กราฟเคยกลับตัว เป็นบริเวณที่กราฟไม่สามารถผ่านไปได้ หรือจะเป็นราคาสูงสุดหรือต่ำสุดในคู่เงินนั้น ๆ ก็เป็นได้ จึงนับว่าเป็นแนวรับแนวต้านเช่นเดียวกัน เพราะราคาไม่สามารถผ่านไปได้ แสดงว่ามีคนรอซื้อหรือรอขายด้วยปริมาณเงินมหาศาล
แนวคิดในการใช้ทำกำไรด้วยแนวรับ แนวต้าน
การใช้แนวรับ แนวต้าน จะแตกต่างจากการใช้ดีมานด์ซัพพลาย โดยแนวรับแนวต้านยิ่งมีการเทสของราคามากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมีความแข็งแกร่งมากขึ้นเท่านั้น เพราะบริเวณนั้นจะเป็นบริเวณที่มีผู้คนรอซื้อหรือขายอยู่เป็นจำนวนมาก
แต่ดีมานด์ซัพพลาย จะใช้เฉพาะโซนที่มีความสดใหม่เท่านั้น เมื่อถูกใช้แล้วเท่ากับว่าเป็นโซนที่ถูกทำลาย ซึ่งแตกต่างการใช้แนวรับแนวต้าน
การเข้าเทรดหรือทำกำไรด้วยแนวรับแนวต้าน อาจจะไม่ใช่ทุกโซนที่จะรับหรือต้านอยู่เสมอ ดังนั้นการยืนยันด้วยสัญญาณอื่น ๆ จึงมีความจำเป็น เพราะเทรดเดอร์จะไม่มีทางรู้ได้เลยว่า ราคาจะกลับตัวได้จริงหรือไม่ แต่ถ้าใช้สัญญาณอื่น ๆ ในการยืนยัน การเทรดก็จะมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
ทฤษฎีที่ปรับใช้ได้กับทุกระบบ
ตัวอย่างแผนการเทรดด้วยแนวรับแนวต้าน
- สร้างแนวรับแนวต้าน ที่มีนัยสำคัญล่วงหน้าเอาไว้
- เมื่อราคาเข้าใกล้โซนแนวรับแนวต้าน ให้รอสัญญาณอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อเป็นการยืนยัน เช่น แท่งเทียนกลับตัว
- ทำการเข้าเทรดด้วยสัญญาณแท่งเทียน ตั้ง SL ไว้ใต้หรือเหนือแนวรับแนวต้าน
- เป้ากำไรที่แนวรับหรือแนวต้านถัดไป
ข้อสังเกตุและข้อควรระวังในการใช้ แนวรับ แนวต้าน
- แนวรับแนวต้านใช้ที่ราคาปิดหรือไส้เทียน การตีแนวรับแนวต้านไม่มีถูกไม่มีผิด จะใช้เป็นเนื้อเทียนหรือไส้เทียนก็ได้ แต่ให้พยายามวางเส้นไว้บริเวณที่มีการเทสของราคาบ่อย ๆ หรือเทรดเดอร์จะวางเป็นโซนก็ได้เช่นกัน
- การใช้แนวรับแนวต้านของเทรดเดอร์แต่ละคนไม่เหมือนกัน แน่นอนว่าต่างคนต่างมุมมอง แต่สิ่งที่จะตัดสินได้ดีที่สุดว่าแบบใดถูกต้องนั่นก็คือ ประสบการณ์ เมื่อเทรดเดอร์ใช้บ่อย ๆ ตีบ่อย ๆ ไม่นานจะพบว่าแบบใดถูกต้องและเหมาะสม
- ไม่ควรซื้อที่แนวต้านและขายที่แนวรับ เสมือนการไล่ราคา จึงอาจจะทำให้โดนลากหรือได้ราคาที่ไม่ดี การใช้แนวรับแนวต้านให้เหมาะสมคือ ซื้อแนวรับและขายที่แนวต้าน ในแนวโน้มขาขึ้นให้ Buy เมื่อย่อมาที่แนวรับ และให้ Sell เมื่อราคาดีดกลับไปเทสที่แนวต้านเช่นกัน
สรุป
แนวรับ แนวต้าน คือพื้นฐานในการเทรดด้วยเทคนิค แม้ในตลาดจริงกราฟอาจจะไม่ได้สวยงามเหมือนกับทฤษฎี หรือบางครั้งการเทรดด้วยเส้นเทรนด์ไลน์ หรือกรอบราคา นั่นก็เป็นแนวรับแนวต้านเช่นเดียวกัน แต่จะอยู่ในรูปแบบที่แตกต่าง
หรือการใช้เส้นค่าเฉลี่ย ก็เป็นแนวรับแนวต้านได้เช่นเดียวกัน ขอเพียงเข้าใจว่าแนวรับคืออะไร และแนวต้านคืออะไร ก็จะสามารถนำไปปรับใช้ได้แม้อยู่ในรูปแบบที่แตกต่าง
เส้นเหมือนกัน แต่ทำงานไม่เหมือนกัน นั่นก็คือ แนวรับ แนวต้าน