Forexthai.in.th ย่อให้
- Risk Sentiment คือการวัด “อารมณ์” ของนักลงทุนในตลาดการเงิน โดยบ่งบอกว่ามีนักลงทุนที่กล้าเสี่ยง (Risk-On) หรือกลัวความเสี่ยง (Risk-Off)
- สภาวะ Risk-On นักลงทุนมักมีความมั่นใจเป็นพิเศษและเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น หุ้น สินค้าโภคภัณฑ์ หรือสกุลเงินที่มีผลตอบแทนสูง เนื่องจากข้อมูลพื้นฐานที่บ่งบอกว่าเศรษฐกิจดี
- ส่วน Risk-Off นักลงทุนจะให้ความสำคัญกับการรักษาทุนและลดความเสี่ยง โดยเปลี่ยนไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ปลอดภัยกว่า เช่น พันธบัตรรัฐบาล ทองคำและสกุลเงินปลอดภัย(Safe Haven)
- อินดิเคเตอร์ Risk On/Risk Off Williams %R จาก Trading View ใช้วัด Risk Sentiment ซึ่งผู้ใช้ได้คำนวนดัชนีจากความเสี่ยงของสินทรัพย์ทีสำคัญแต่ละตัว
วันนี้เราจะมาเรียนรู้คำศัพท์ในวงการลงทุนกันครับ ซึ่งอาจจะไม่ได้เกี่ยวกับข้องกับ Forex โดยตรงแต่ก็เป็นคำศัพท์ที่นักลงทุนหลายคนใช้ในทุกตลาดรวมถึงตลาด Forex ด้วย คำนั้นก็คือ “Risk on / Risk off” มันแปลว่าอะไร? เกี่ยวข้องกับ Forex ยังไง? คำตอบอยู่ในบทความนี้ครับ
รู้จักกับ Risk Sentiment
- ก่อนจะไปรู้จักกับ Risk-On Risk-Off อยากให้ทุกคนรู้จักกับ Risk Sentiment ก่อนครับ มันคือคำที่ใช้อธิบายว่านักลงทุนและเทรดเดอร์ในตลาดการเงินมีพฤติกรรมและมีความรู้สึกอย่างไรต่อความเสี่ยง ณ ปัจจุบัน
- พูดง่ายๆ มันคืออารมณ์ของตลาดการเงินโดยรวม ว่านักลงทุน “กล้าเสี่ยง (Risk-On)” หรือ “กลัวความเสี่ยง(Risk-Off)” โดยวัดจาก การที่นักลงทุนเลือกซื้อหรือขายสินทรัพย์อะไร เพราะแต่ละสินทรัพย์มันบ่งบอกได้ครับ
- สินทรัพย์ที่พอจะประเมิน Risk Sentiment มีหลายสินทรัพย์ครับ เช่น ดัชนีหุ้นสหรัฐ, ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและ”สกุลเงินปลอดภัย” ซึ่งเราจะเน้นเป็นพิเศษในบทความนี้

Risk-On
- Risk-On คือ สภาวะนักลงทุน “กล้าเสี่ยง” พร้อมที่จะลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อหวังผลตอบแทนที่สูงขึ้น โดยเราสามรรถเห็นได้จากตลาดการเงิน การลงทุน ที่มีการซื้อขายสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น
- อะไรทำให้เกิด Risk-On? = การที่ตลาดเป็น Risk-On เกิดจากการประกาศข้อมูลเศรษฐกิจที่ดี, ผลประกอบการบริษัทที่แข็งแกร่ง, สถานการณ์ทางการเมืองที่มั่นคง, หรือนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย(ลดดอกเบี้ย)
- จะเกิดอะไรขึ้นในวัน Risk-On? = นักลงทุนจะย้ายเงินจากสินทรัพย์ที่ปลอดภัย เช่น พันธบัตรรัฐบาล, ทองคำ, และสกุลเงินปลอดภัย ไปยังสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงกว่า เช่น หุ้น, สินค้าโภคภัณฑ์, และสกุลเงินที่มีผลตอบแทนสูง เช่น ดอลลาร์ออสเตรเลีย (AUD) แทน

Risk-Off
- ส่วน Risk-Off คือ สภาวะที่นักลงทุน “กลัวความเสี่ยง” ต้องการรักษาเงินกำไรไว้มากกว่า จึงเลือกที่จะลงทุนในสินทรัพย์ที่ปลอดภัยกว่า
- อะไรทำให้เกิด Risk-Off? = ก็แทบจะตรงข้ามกับ Risk-On คือการประกาศข่าวเศรษฐกิจที่ไม่ดี, ความตึงเครียดทางการเมืองiรวมถึงความไม่แน่นอนในตลาด
- จะเกิดอะไรขึ้นในวัน Risk-Off? = นักลงทุนจะย้ายเงินจากสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น หุ้น, สินค้าโภคภัณฑ์และพันธบัตรผลตอบแทนสูง ไปยังสินทรัพย์ที่ปลอดภัยกว่า เช่น พันธบัตรรัฐบาล, ทองคำ, และสกุลเงินปลอดภัย เช่น ดอลลาร์สหรัฐ (USD) และเยนญี่ปุ่น (JPY)

Risk-On / Risk-Off ในการเทรด Forex
ทีนี้เรามาเจาะที่ประเด็นเกี่ยวกับ Forex โดยเฉพาะ ซึ่งสกุลเงินในตลาด Forex ที่เป็น Safe Haven หรือสกุลเงินปลอดภัยมักจะตอบสนองต่อ Risk Sentiment ในตลาดอย่างรวดเร็ว สิ่งที่ดีของตลาด Forex คือเปิดให้เทรดตลอด 24 ชั่วโมงในช่วงวันทำการ เทรดเดอร์สามารถติดตาม Risk Sentiment ของตลาดได้ตลอด
1. ดอลลาร์สหรัฐ (USD)
- หากดอลลาร์สหรัฐ(USD) แข็งค่าขึ้นเทียบกับสกุลเงินที่มีอัตราผลตอบแทนสูงกว่า นั่นอาจบ่งบอกว่าอารมณ์ของนักลงทุนในตลาดกำลังไม่พอใจกับข้อมูลเศรษฐกิจหรือข่าวล่าสุด = Risk-Off
- ดังนั้นเหล่านักลงทุนจึงเลือกมองหาความปลอดภัยโดยหันมาใช้ค่าเงินที่มีความปลอดภัยอย่างดอลลาร์สหรัฐ (USD)
- นักลงทุนต่างชาติที่ต้องการซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ (U.S. Treasuries) ก็จำเป็นต้องมี USD เมื่อมีการซื้อพร้อมกันในปริมาณมาก ก็ทำให้ USD แข็งแรงขึ้น
- ถ้าหากเหตุการณ์ไปในทิศทางตรงกันข้ามคือนักลงทุนส่วนใหญ่ไม่ค่อยถือ USD เลือกลงทุนกับสกุลเงินอื่นๆ แทน ก็เป็น Risk-On
2. ฟรังก์สวิส (CHF)
- ฟรังก์สวิส (CHF) ถือว่าเป็นสกุลเงินปลอดภัยอีกหนึ่งตัว ด้วยความมั่นคงทางการเมือง นโยบายการคลังและการเงินที่ดี รวมถึงเศรษฐกิจที่มั่นคง จึงเป็นสกุลเงินในหมวด Safe Haven
- หาก CHF แข็งค่าขึ้นเทียบกับสกุลเงินที่มีผลตอบแทนสูง อาจบ่งชี้ว่ามีความวุ่นวายในตลาด (มักจะเกิดในยุโรป) = Risk-Off
- นักลงทุนหรือเทรดเดอร์จึงอาจเลือกหลีกเลี่ยงความเสี่ยงโดยเปลี่ยนไปถือครอง CHF แต่หากเหตุการณ์ตรงกันข้ามก็ถือว่าเป็น Risk-On
3. เยนญี่ปุ่น (JPY)
- อีกหนึ่งสัญญาณที่ใช้วัด Risk-On/Risk-Off ได้ก็คือสกุลเงิน เยนญี่ปุ่น (JPY)
- เมื่อเยนญี่ปุ่นแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินที่มีผลตอบแทนสูง นั่นบ่งบอกว่าตลาดไม่พอใจกับข้อมูลเศรษฐกิจหรือข่าวล่าสุด (โดยเฉพาะข่าวหรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสหรัฐฯ)
- คู่สกุลเงินที่ควรจับตาคือ AUD/JPY และ NZD/JPY เพราะคู่เหล่านี้เทรดเดอร์หลายคนมักจะใช้ในกลยุทธ์ Carry Trade ดังนี้
- หาก AUD/JPY หรือ NZD/JPY ราคาลดลงอย่างกระทันหัน นั่นเป็นสัญญาณว่าผู้เทรดกำลังหลีกเลี่ยงความเสี่ยง = Risk-Off
- แต่ถ้าคู่สกุลเงินเหล่านี้เริ่มพุ่งขึ้น ก็อาจบ่งชี้ว่าความรู้สึกเสี่ยงเปลี่ยนกลับมาเป็น Risk-On อีกครั้ง

อินดิเคเตอร์ Risk On/Risk Off Williams %R
ก่อนจากกันทีมงาน Forexthai ไปเจออินดิเคเตอร์ตัวหนึ่งที่ใช้วัด Risk-On/Risk-Off จาก User ที่ชื่อ EdgeTools บน Trading View เผื่อว่าเทรดเดอร์คนไหนกำลังเทรดบนแพลตฟอร์มนี้ก็สามารถเอาไปใช้ต่อยอดได้ครับ
- Williams %R indicator เป็นอินดิเคเตอร์ทางเทคนิคที่ช่วยบอกอารมณ์ของตลาด ว่านักลงทุน “กล้าเสี่ยง” หรือ “กลัวความเสี่ยง” โดยเปรียบเทียบสินทรัพย์เสี่ยง (Risk-On) กับสินทรัพย์ปลอดภัย (Risk-Off)
- พูดง่ายๆ ก็คือ อินดิเคเตอร์ตัวนี้มันสรุกมาให้แล้วว่า ตลาด ณ ปัจจุบันกำลังอยู่ในสภาวะไหน เทรดเดอร์ไม่ต้องไปนั่งวิเคราะห์สินทรัพย์ทีละตัวด้วยตัวเองครับ
- สินทรัพย์ที่ใช้วัด Risk-On ของ Williams %R ได้แก่
- SPY (S&P 500 ETF)
- QQQ (Nasdaq-100 ETF)
- HYG (High-Yield Corporate Bond ETF)
- XLF (Financial Select Sector SPDR Fund)
- XLK (Technology Select Sector SPDR Fund)
- สินทรัพย์ที่ใช้วัด Risk-Off ของ Williams %R ได้แก่
- TLT (iShares 20+ Year Treasury Bond ETF)
- GLD (SPDR Gold Trust)
- DXY (U.S. Dollar Index)
- IEF (iShares 7-10 Year Treasury Bond ETF)
- XLU (Utilities Select Sector SPDR Fund)
- วิธีคำนวนคือสร้างดัชนี “Risk-On” และ “Risk-Off” จากราคาเฉลี่ยของสินทรัพย์แต่ละกลุ่มก่อน
- จากนั้นก็เอามาคำนวนสร้างดัชนีผสมโดยใช้สูตร
- [ดัชนี Risk On] – [ดัชนี Risk Off]
- จากนั้นใช้ Williams %R (ตัวชี้วัดโมเมนตัม) กับดัชนีผสม หากผลลัพธ์ออกมามีค่ามากกว่า -50 = ตลาดเป็นขาขึ้น (Risk-On) แต่หากค่าน้อยกว่า -50 = ตลาดเป็นขาลง (Risk-Off)

วิดีโอเกี่ยวกับสกุลเงิน Safe Haven Yen
ทำไมเงินสกุลเยนถึงเป็นแหล่ง Safe Haven เครดิต By Trading Mastery with Andrew Barnett Focus นาทีที่ 00:20-03:45
ในส่วนของวิดีโอนี้ผมอยากจะเจาะลึกถึงเรื่องที่ว่าทำไมเงินสกุลเยนถึงเป็นแหล่ง Safe Haven ของตลาด Forex ได้ครับ จะมีเหตุในด้านใดบ้างสามารถติดตามได้ในคลิปวิดีโอนี้เลยครับ
- Focus นาทีที่ 0:20 เมื่อไหร่ที่ราคาเงินเยนจะสูงขึ้น
- Focus นาทีที่ 0:40 เหตุผลที่ว่าทำไมเงินเยนถึงเป็น Safe Haven
- Focus นาทีที่ 01:32 ความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจญี่ปุ่น
- Focus นาทีที่ 03:21 การเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่น
สรุป
ในโลกการลงทุนที่ผันผวน ‘Risk On’ และ ‘Risk Off’ คือสองขั้วอารมณ์ที่กำหนดทิศทางของตลาด แม้ว่าคำสองคำนี้จะไม่ค่อยมีความเกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์การเทรด Forex แบบตรงๆ แต่มันก็สามารถแสดงภาพรวมและทำให้เทรดเดอร์มองภาพใหญ่ในการเทรดได้ดีขึ้น
การเข้าใจ ‘Risk On’ และ ‘Risk Off’ จะช่วยให้เทรดเดอร์สามารถปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับสภาวะตลาดได้ ไม่ว่าคุณจะชอบความท้าทายหรือเน้นการรักษาเงินทุน การตระหนักถึง ‘อารมณ์‘ ของตลาดนี่แหละจะช่วยให้เทรดได้อย่างชาญฉลาดและมั่นคง
อ้างอิง
- Risk Sentiment: https://www.babypips.com/forexpedia/risk-sentiment
- Risk On/Risk Off Williams %R: https://www.tradingview.com/script/mpkvg2xe/
ทีมงาน: forexthai.in.th