Forexthai.in.th ย่อให้
- ระบบเทรดความแข็งค่าและอ่อนค่าของเงิน : เป็นระบบการเทรดในระยะกลางถึงระยะยาวโดยใช้ปัจจัยพื้นฐานในเรื่องความแข็งค่าและอ่อนค่าของเงินเข้ามาวิเคราะห์
- หลักการเทรดเบื้องต้น: เริ่มต้นเปรียบเทียบค่าเงิน USD และ JPY กับค่าเงินอื่น ๆ เพื่อดูความแข็งค่าและอ่อนค่า และเทรดในทิศทางเดียวกับเทรนด์ที่เกิดขึ้น
- เครื่องมือที่ใช้: ATR หรือ EMA
- ข้อดี: เป็นกลยุทธ์ที่สามารถดูแนวโน้มของตลาดได้แม่นยำ มีโอกาสทำกำไรได้สูงในตลาดที่เป็นเทรนด์ระยะยาว
- ข้อเสีย: มีจุดเข้าจุดออกไม่ตายตัว, ไม่เหมาะกับเทรดเดอร์มือใหม่ที่ประสบการณ์น้อย, หาโอกาสเทรดยากไม่ได้อ้างอิงจากไทม์เฟรมเดียวหรือคู่เงินเดียว
สวัสดีครับเพื่อน ๆ นักเทรด คราวนี้ผู้เขียนจะมาเอาใจเพื่อนๆ นักเทรดคู่เงิน Yen ของประเทศญี่ปุ่น โดยบทความนี้จะมาแนะนำระบบเทรดตามเทรนด์โดยการใช้หลักการของความแข็งค่าและอ่อนค่าคู่เงินเข้ามาช่วยในการวิเคราะห์เพื่อให้การเทรดของเรานั้นมีความเฉียบคมและแม่นยำมากยิ่งขึ้น ซึ่งระบบนี้จะมีที่มาที่ไปอย่างไรมาติดตามไปพร้อม ๆ กัน
สารบัญบทความ click เพื่อเลือกอ่าน !!
ความแข็งค่าและอ่อนค่าของเงิน
ความแข็งค่าและอ่อนค่าของเงินเป็นปัจจัยพื้นฐานหนึ่งที่ทำให้คู่เงินในตลาด Forex เกิดการเคลื่อนไหวครับ ซึ่งความแข็งค่าและอ่อนค่าของเงินมีความสำคัญอย่างมาก นักเทรด Forex ที่ต้องการประสบความสำเร็จในตลาดนี้จะต้องตีความหมายของความแข็งค่าและอ่อนค่าของค่าเงินให้ถูกต้อง ตัวอย่างเช่น
- GBP/USD กำลังวิ่งอยู่ในทิศทางขาขึ้น แสดงว่าค่าเงิน Pound มีความแข็งค่ามากกว่าค่าเงิน Dollar
- USD/JPY กำลังวิ่งอยู่ในทิศทางขาขึ้น แสดงว่าค่าเงิน Dollar กำลังมีความแข็งค่ามากกว่าค่าเงิน Yen
เริ่มต้นเปรียบเทียบและตีความหมายความแข็งค่าและอ่อนค่าของเงินหลากคู่
เราจะไม่สามารถเทรดระบบนี้ได้อย่างประสบความสำเร็จได้เลย ถ้าเรายังไม่สามารถตีความหมายของค่าเงินได้อย่างถูกต้อง ซึ่งผู้เขียนจะยกตัวอย่างให้ดูนะครับว่าเราจะต้องตีความหมายไปในทิศทางไหน
ตัวอย่างที่ 1 GBP/USD กำลังอยู่ในทิศทางขาขึ้น USD/JPY กำลังอยู่ในทิศทางขาขึ้น
ความหมาย : เงิน Pound แข็งค่ามากกว่า Dollar และเงิน Dollar ก็แข็งค่ามากกว่า Yen แสดงว่าเงิน Pound มีความแข็งค่ามากที่สุด ตามมาด้วยเงิน Dollar และเงิน Yen อ่อนค่ามากที่สุด
ตัวอย่างที่ 2 GBP/USD กำลังอยู่ในทิศทางขาลง และ USD/JPY กำลังอยู่ในทิศทางขาลง
ความหมาย : เงิน Pound อ่อนค่ามากกว่า Dollar และเงิน Dollar ก็อ่อนค่ามากกว่า Yen แสดงว่าเงิน Yen แข็งค่ามากที่สุดตามมาด้วย Dollar และเงิน Pound อ่อนค่ามากที่สุดนั่นเอง
หลักการเทรดเบื้องต้น
เมื่อเพื่อน ๆ ได้เรียนรู้วิธีตีความหมายของคู่เงินได้แล้ว เราจะใช้ประโยชน์จากความแข็งค่าและอ่อนค่าของเงินนี้มาวิเคราะห์ทิศทางของตลาดเพื่อเทรด
อินดิเคเตอร์ที่ใช้ในการเทรด
- ATR ใช้ช่วยดูความผันผวนของตลาดและแนวโน้มของเทรนด์
- EMA 200 ใช้ดูแนวโน้มของตลาด (สำหรับคนที่ดูแนวโน้มของเทรนด์ไม่คล่อง ในที่นี้ผู้เขียนนำมาใช้แทน ATR แต่จะมีการอธิบายเกี่ยวกับ ATR ให้ฟังด้วยครับ)
ATR คืออะไร
ATR ย่อมาจาก Average True Range เป็นตัวชี้วัดความผันผวนของตลาดในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ในช่วงที่ตลาดมีความผันผวนมาก ATR ก็จะมีค่ามากขึ้นตามไปด้วย ในช่วงที่ตลาดมีความผันผวนน้อย ATR ก็จะมีค่าลดน้อยลงด้วยเช่นเดียวกัน
ประโยชน์ของ ATR
- ใช้ในการตั้ง Stop loss
- วัดความผันผวนและระยะการวิ่งของราคาในตลาด
EMA 200 คืออะไร
EMA 200 คือเส้น EMA ที่ตั้งค่าความยาว 200 ใช้สำหรับดูแนวโน้มระยะยาวของตลาด ในกรณีที่กราฟอยู่เหนือเส้น EMA 200 แสดงว่ามีแนวโน้มเป็นขาขึ้น แต่ถ้าหากกราฟอยู่ใต้เส้น EMA 200 แสดงว่ามีแนวโน้มขาลง
ประโยชน์ของ EMA 200
- ทำให้บอกลักษณะของเทรนด์ในตลาดได้ง่าย
- เหมาะกับมือใหม่ที่ยังใช้อินดิเคเตอร์ตัวอื่นในการดูทิศทางของตลาดไม่เก่ง
เงื่อนไขการเทรดขาขึ้น (รูปแบบที่ 1)
1. ดูความแข็งค่าและอ่อนค่าของคู่เงิน XXX/USD โดยกราฟราคาต้องวิ่งในทิศทางขาขึ้น
2. ดูความแข็งค่าและอ่อนค่าของคู่เงิน USD/JPY โดยกราฟต้องวิ่งในทิศทางขาขึ้น
3. เปิดออเดอร์เทรดหน้า Buy ในคู่เงิน XXX/JPY
4. ปิดออเดอร์เมื่อคู่เงิน XXX/USD หรือ USD/JPY เปลี่ยนเทรนด์
ตัวอย่าง คู่เงิน GBP/USD วิ่งขึ้น และ USD/JPY วิ่งขึ้น หมายความว่าคู่เงิน Pound กำลังแข็งค่าเมื่อเทียบกับ Yen เราจึงเทรด Buy ในคู่เงิน GBP/JPY และทำการปิดออเดอร์เมื่อ USD/JPY เริ่มเปลี่ยนแนวโน้ม
เงื่อนไขการเทรดขาขึ้น (รูปแบบที่ 2)
1. ดูความแข็งค่าและอ่อนค่าของคู่เงิน USD/XXX โดยกราฟราคาต้องวิ่งในทิศทางขาลง
2. ดูความแข็งค่าและอ่อนค่าของคู่เงิน USD/JPY โดยกราฟต้องวิ่งในทิศทางขาขึ้น
3. เปิดออเดอร์เทรดหน้า Buy ในคู่เงิน XXX/JPY
4. ปิดออเดอร์เมื่อคู่เงิน USD/XXX หรือ USD/JPY เปลี่ยนเทรนด์
ตัวอย่าง คู่เงิน USD/CHF วิ่งลง และ USD/JPY วิ่งขึ้น หมายความว่าคู่เงิน Swiss franc กำลังแข็งค่าเมื่อเทียบกับ Yen เราจึงเทรด Buy ในคู่เงิน CHF/JPY และทำการปิดออเดอร์เมื่อ USD/JPY เริ่มเปลี่ยนแนวโน้ม
เงื่อนไขการเทรดขาลง (รูปแบบที่ 1)
1. ดูความแข็งค่าและอ่อนค่าของคู่เงิน XXX/USD โดยกราฟราคาต้องวิ่งในทิศทางขาลง
2. ดูความแข็งค่าและอ่อนค่าของคู่เงิน USD/JPY โดยกราฟต้องวิ่งในทิศทางขาลง
3. เปิดออเดอร์เทรดหน้า Sell ในคู่เงิน XXX/JPY
4. ปิดออเดอร์เมื่อคู่เงิน XXX/USD หรือ USD/JPY เปลี่ยนเทรนด์
ตัวอย่างเช่น คู่เงิน GBP/USD วิ่งลง และ USD/JPY วิ่งลง หมายความว่าคู่เงิน Pound กำลังอ่อนค่าเมื่อเทียบกับ Yen เราจึงเทรด Sell ในคู่เงิน GBP/JPY และทำการปิดออเดอร์เมื่อ USD/JPY เริ่มเปลี่ยนแนวโน้ม
เงื่อนไขการเทรดขาลง (รูปแบบที่ 2)
1. ดูความแข็งค่าและอ่อนค่าของคู่เงิน USD/XXX โดยกราฟราคาต้องวิ่งในทิศทางขาขึ้น
2. ดูความแข็งค่าและอ่อนค่าของคู่เงิน USD/JPY โดยกราฟต้องวิ่งในทิศทางขาลง
3. เปิดออเดอร์เทรดหน้า Sell ในคู่เงิน XXX/JPY
4. ปิดออเดอร์เมื่อคู่เงิน USD/XXX หรือ USD/JPY เปลี่ยนเทรนด์
ตัวอย่าง คู่เงิน USD/CAD วิ่งขึ้น และ USD/JPY วิ่งลง หมายความว่าคู่เงิน Canadian Dollar กำลังอ่อนค่าเมื่อเทียบกับ Yen เราจึงเทรด Sell ในคู่เงิน CAD/JPY และทำการปิดออเดอร์เมื่อ USD/JPY เริ่มเปลี่ยนแนวโน้ม
เครื่องมือช่วยดูความแข็งค่า/อ่อนค่าของคู่เงินและเปรียบเทียบการวิ่งของคู่เงิน
หากเพื่อนๆดูกราฟแล้วอยากได้ตัวคอนเฟิร์มว่าคู่เงินที่กำลังดูอยู่นั้นมีความแข็งค่า/อ่อนค่า รวมทั้งคู่เงินวิ่งไปในทิศทางเดียวกันตามที่กราฟแสดงออกจริง ๆ ผู้เขียนก็มีเครื่องมือที่จะช่วยคอนเฟิร์มให้นะครับ แน่นอนว่าสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับระบบเทรดนี้ได้อย่างแน่นอน
Finviz
Finviz เป็นเว็บไซต์ยอดนิยมที่ใช้ในการดูความแข็งค่าและอ่อนค่าของเงินในระหว่างวันได้ครับ ซึ่งในเว็บไซต์จะประกอบไปด้วยตารางที่แสดงความแข็งค่าและอ่อนค่าของเงิน ค่าเงินที่อยู่ด้านซ้ายมือแสดงว่ามีความแข็งค่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับคู่เงินที่อยู่ทางขวามือสุด นอกจากนี้ยังมีเปอร์เซ็นต์ความแข็งค่าและอ่อนค่าให้ดูอีกด้วย แบบนี้เพื่อนๆไม่พลาดการวิเคราะห์กราฟอย่างแน่นอนเลย
My Fxbook
My Fxbook มีฟังชั่นที่ชื่อว่า “Market Correlation” โดยฟังชั่นนี้นั้นจะช่วยแสดงความสัมพันธ์ของคู่เงินครับ
- คู่เงินที่มีความสัมพันธ์กันมากมักจะเคลื่อนที่ไปในทิศทางเดียวกัน
- คู่เงินที่มีความสัมพันธ์กันน้อยหรือไม่มีความสัมพันธ์กันโดยเรามีตัวเลขชี้วัดความสัมพันธ์ดังนี้
% ความสัมพันธ์คู่เงิน
- 80%-100% มีความสัมพันธ์กันมากที่สุด
- 40%-79% มีความสัมพันธ์กันอยู่ในระดับปานกลาง
- 0%-39% มีความสัมพันธ์กันอยู่ในระดับต่ำ
- -X% ไม่มีความสัมพันธ์กัน
ผู้เขียนเชื่อว่า 2 เว็บไซต์นี้จะทำให้เพื่อน ๆ นั้นวิเคราะห์ตลาดได้เก่งมากขึ้นและนำไปประยุกต์ใช้กับระบบเทรดได้อีกมากมายเลยทีเดียวครับ
ข้อดีข้อเสียของระบบเทรดความแข็งค่าและอ่อนค่าของเงิน
ข้อดีของระบบเทรด
- เป็นระบบที่อ้างอิงปัจจัยพื้นฐาน สามารถคาดการณ์แนวโน้มได้แม่นยำ
- สามารถทำกำไรได้ดีในตลาดที่เป็นเทรนด์ระยะยาว
- เป็นระบบการเทรดที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับระบบอื่นๆได้
ข้อเสียของระบบเทรด
- เป็นระบบที่เข้าใจยากต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ และใช้สมาธิสูง
- ระบบนี้ยังไม่เหมาะกับมือใหม่ที่ยังไม่เข้าใจปัจจัยพื้นฐาน
- เป็นระบบที่ไม่ได้มีจุดเข้าและจุดอ่อนที่ชัดเจน
- จำเป็นต้องดูและเปรียบเทียบหลายคู่เงินเพื่อหาโอกาสในการเทรด และบางครั้งหน้าเทรดก็ไม่ได้เกิดขึ้นในไทม์เฟรมเดียว
คำแนะนำในการใช้งานระบบการเทรด
- สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการเทรดที่ใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคได้
- ผู้ที่ใช้งานระบบเทรดนี้ต้องหมั่นศึกษาปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้คู่เงินเกิดการเคลื่อนไหว
- ควรเลือกเทรดหลายคู่เงินเพื่อหาโอกาสในการเทรดได้มากขึ้น
- ควรเล่นกับไทม์เฟรม 1 ชั่วโมงขึ้นไป
- สามารถนำอินดิเคเตอร์ตัวอื่น ๆ เข้ามาช่วยวิเคราะห์ตลาดได้
สรุป
ระบบเทรดความแข็งค่าและอ่อนค่าของเงินเป็นระบบเทรดที่อ้างอิงจากปัจจัยพื้นฐานเป็นหลักโดยเป็นการเปรียบเทียบความแข็งค่าและอ่อนค่าของเงิน USD และ JPY กับค่าอื่น ๆ เพื่อหาแนวโน้มของเทรนด์ในตลาด และจับจังหวะในการเข้าเทรด ระบบการเทรดสามารถคาดการณ์ทิศทางของเทรนด์ได้อย่างแม่นยำ แต่ก็ยังไม่เหมาะกับมือใหม่ที่ยังไม่ได้มีประสบการณ์ในตลาดมาก
สำหรับมือใหม่แล้วมีตัวช่วยในการวิเคราะห์ตลาดตัวอย่างเช่น Finviz และ Market correlation ที่สำคัญระบบเทรดนั้นยังไม่ได้มีความสมบูรณ์แบบ ใครที่ชื่นชอบแนวคิดและแนวทางในการวิเคราะห์กราฟสามารถนำเทคนิคไปต่อยอดกับระบบการเทรดอื่นๆได้นะครับเชื่อว่ามันต้องมีประโยชน์ได้อย่างแน่นอนเลย
ทีมงาน: forexthai.in.th