Forexthai.in.th ย่อให้
- Drawdown คือ % ของจำนวนเงินที่ขาดทุนสะสม ทำหน้าที่เป็นสัญญาณเตือน
- Drawdown มี 3 ประเภท คือ Maximum Drawdown (MDD), Relative Drawdown (RDD),และ Absolute drawdown (Absolute DD)
- % Drawdown ที่เพิ่มขึ้น บ่งบอกว่า การเทรดมีปัญหาและต้องพิจารณาปรับแผนการเทรด
- ควรกำหนด Drawdown ไว้ที่ไม่เกิน 20 – 30% เพื่อลดความเสี่ยงในการเทรด และเพื่อสร้างโอกาสในการกู้คืนพอร์ต
สารบัญบทความ click เพื่อเลือกอ่าน !!
Drawdown คืออะไร?
Drawdown คือ % ของจำนวนเงินขาดทุนสะสมของ balance ซึ่งจะมีค่าที่ตรงกันข้ามกับการทำกำไร (Profit) นั่นเอง โดยปกติแล้ว ถ้า % ของ Drawdown ไม่เกินกว่า 30% ยังถือว่าอยู่ในความเสี่ยงที่ยอมรับได้ หรือพอร์ตของคุณมีโอกาสในการกลับมาเติบโตได้ แต่ถ้าสูงกว่านี้เมื่อไหร่ มีความเสี่ยงทันทีครับ
ตัวอย่างที่ 1: ถ้าคุณมีเงินทุนในพอร์ตอยู่ $10,000 และคุณขาดทุนไป $3,000 นั่นหมายความว่าคุณขาดทุนไป 30% ของพอร์ตการลงทุน
ตัวอย่างที่ 2: คุณมีทุน $10,000 ทำการเทรดไป 5 ครั้ง ครั้งแรกขาดทุน -$300 ครั้งที่สองขาดทุน -$300 ครั้งที่สามได้กำไร +$600 ครั้งที่สี่ขาดทุน -$200 ครั้งที่ห้าขาดทุน -$300 ดังนั้น
- Drawdown(DD.) = (-$300) + (-$300) + $600 + (-$300) + (-$300) = (-$600)
- หรือก็คือ 6% ของทุน $10,000
ประเภทของ Drawdown
ปัจจุบันเราสามารถแบ่งประเภท Drawdown (DD) ได้ 3 ประเภทใหญ่ ๆ ด้วยกันครับ โดยรายละเอียดจะมีประมาณนี้
1. Maximum Drawdown (MDD)
MDD คือ จุดขาดทุนต่อเนื่องสูงสุด นับจากผลต่างระหว่างจุดที่ขึ้นไป “สูงสุด” และ “ต่ำสุด” มักคิดในช่วงเวลาที่ทำการเทรดทั้งหมด ซึ่งเราจะมักจะใช้ค่านี้ในการวัดความเสี่ยงสูงสุดของ “ระบบเทรด” หรือแม้แต่ “EA” โดยตั้งเป้าไม่ควรเกิน 30 %
- ถ้าระบบ EA ตัวไหนที่มีค่า Max DD สูงกว่านี้ถือว่ายังใช้ไม่ได้ครับ เพราะว่า Max DD ที่สูง ๆ นั้นไม่ได้เกิดขึ้นกันง่ายๆนะครับถ้าหากคุณมี Stop Loss ที่ดีพอ
- เว้นแต่ระบบเทรดสาย over trade ที่อาจตั้งไว้ถึง 60% เลยทีเดียวเนื่องจากมีความคุ้มค่า เพราะระบบเทรดแบบนี้ผลตอบแทนสูง ซึ่งสามารถบริหารพอร์ตได้โดยเมื่อได้ผลกำไร 100% แล้ว เราจะถอนต้นทุนออก แล้วใช้กำไรในการเทรดเท่านั้น ต่อให้ต่อมาเทรดเสีย ก็เสียเฉพาะในส่วนของกำไร
สูตรคำนวณ MDD
MDD = (Equity peak – Equity low) / Equity peak
* โดยที่
- Equity peak คือ ค่าสูงสุดของค่า equity
- Equity low คือ ค่าต่ำสุดของค่า equity
- ค่า MDD จะแสดงออกเป็น %
บางที่ระบบมี Net Profit (กำไรสุทธิ) ที่มากจนน่าสนใจ และมี Absolute Drawdown ที่ไม่มากไป แต่ดันมี Maximum Drawdown เยอะ เรียกว่าบางครั้งได้กำไรเยอะก็ขาดทุนก้อนโตเยอะเหมือนกัน ซึ่งการขาดทุนก้อนโตเกินความเสี่ยงที่นักลงทุนรับไหว ก็อาจทำให้เราไม่สามารถทำตามระบบเทรดนั้นได้ตลอดเวลา
2. Relative Drawdown (RDD)
RDD (ขาดทุนสัมพัทธ์) คือ การขาดทุนต่อเนื่องสูงสุด ณ จุดๆหนึ่งของ balance ค่านี้เป็นตัวบอกว่า ณ จุด ๆ หนึ่งของการเทรด ในการทดสอบระบบเทรด ไม่ว่าจะเป็นระบบมือ หรือ EA จะมีการขาดทุนต่อเนื่องได้กี่ % ของ balance ณ ขณะนั้น เช่น 20% หมายถึง จะมีช่วงใดช่วงหนึ่งที่ระบบของเราจะขาดทุนติดต่อกันถึง 20% ถ้าเราเข้าเทรดช่วงตลาด ณ เวลานั้น
- Relative Drawdown ส่วนมากจะสูงกว่า Maximum Drawdown
- การทดสอบระบบเทรดหรือ EA จะใช้ Relative Drawdown เป็นตัวอย่างอิงมากกว่า DD ประเภทอื่น เนื่องจากเป็นตัวทดสอบการทนได้อย่างต่อเนื่องของระบบเทรด
สูตรคำนวณ RDD
RDD = (Maximum Drawdown / P) x 100
* เมื่อ P คือ ค่าเงินต้นทุน โดยค่า RDD จะแสดงออกเป็น %
ยกตัวอย่างเช่น
ถ้ามีทุนอยู่ $1000 ก็อาจถูกลากพอร์ตติดลบหรือขาดทุนติดต่อกันได้ ถึง 200 เหรียญ เป็นต้น ค่า RDD ยิ่งมีค่าน้อยเท่าไหร่ยิ่งดี ค่าที่แนะนำคือ
- ไม่ควรเกิน 20% และยอมรับได้ไม่เกิน 30%
- ถ้าเล่นหลายคู่ ไม่ควรเกินคู่ละ 10-12 %
เพราะเมื่อถึงเวลาเทรดจริงๆ ถ้าติดลบมากๆ เช่น 20% แล้ว จะมีความรู้สึกไม่มั่นใจว่า ระบบที่ใช้จะยังใช้ได้ดีหรือเปล่า ตลาดกำลังจะเปลี่ยนหรือเปล่า การ recover ทุนจากการติดลบมากๆ ก็อาจจะต้องใช้เวลาหรือความพยายามมาก กว่าจะได้ทุนคืน
3. Absolute drawdown (ผลขาดทุนสัมบูรณ์)
Absolute DD คือ ผลขาดทุนมากที่สุดที่เคยเกิดขึ้นนับจากต้นทุนเริ่มต้น (deposit) ตัวนี้จะช่วยบอกว่า หน้าตักที่คุณมีมันทนทานเพียงพอต่อระบบเทรดชนิดนั้นหรือไม่ เพราะระบบเทรดบางตัวอาจมี Total Net Profit ที่กำไรดี แต่มี Absolute Drawdown ที่เยอะจนหน้าตักเงินทุนเริ่มต้นเรา “ไม่เพียงพอที่จะอยู่ทำตามระบบในระยะยาวได้”
- Absolute drawdown นี้ไม่ได้คิดเป็น % และส่วนใหญ่เราจะมักดูที่ Maximum Drawdown กับ Relative Drawdown กันมากกว่า
- เป็นค่าที่ไม่รวมเห็นการกระชากของกราฟ หรือการเปลี่ยนแปลงของไส้เทียนเข้าไปด้วย จึงทำให้ตัวเลขขาดทุนค่อนข้างน้อยกว่าความเป็นจริง
สูตรคำนวณ Absolute DD
Absolute DD = Initial Deposit – Minimum Equity
% DD กับความยากในการไต่ระดับเพื่อทำกำไรกลับคืน
การปล่อยให้เกิดการขาดทุนต่อเนื่อง จนทำให้ Drawdown สูงขึ้นเรื่อยๆ นั่นไม่เป็นผลดีเลย เพราะการที่จะทำกำไรกลับมาให้เท่าส่วนที่หายไป (recover) นั้นจะยากมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเป็นเรื่องของอัตราส่วน ไม่ใช่แค่การหักลบ ลองดูค่าจากตารางด้านล่างนี้นะครับ
% Drawdown | % ที่จะต้องได้กำไรคืน(เพื่อที่จะกลับมาเท่าทุน) %recover |
10% | 11% |
20% | 25% |
30% | 43% |
40% | 67% |
50% | 100% |
60% | 150% |
70% | 233% |
80% | 400% |
90% | 900% |
100% | ล้างพอร์ต |
สาเหตุที่ทำให้เกิด Drawdown
1.การเทรดโดยการขาดแผนการลงทุน forex ที่ถูกต้อง
เรื่องนี้ก็คือการขาดการใช้ในส่วนที่เรียกว่า “ระบบเทรด (Trading system)” นั่นเอง โดยปกติแล้วหากเป็นนักเทรดมืออาชีพ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีระบบเทรดที่ช่วยให้การเทรดของคุณสามารถทำกำไรได้ ถ้าไม่มีแล้วถือว่าเป็นการเทรดแบบ “ไร้หลักการหรือไร้ทิศทาง” ซึ่งจะไม่ต่างอะไรกับ “การพนัน” สิ่งที่ตามมาคือการสะสมของค่า Drawdown นั่นเอง
2.การเทรดโดยขาดการบริหารจัดการการเงินที่ดี
การขาดการบริหารจัดการการเงินที่ดี (Money management) ย่อมส่งผลคือ “เกิดโอกาสในการขาดทุนสะสม” และทำให้เกิดค่าที่เรียกว่าค่า Drawdown นั่นเอง ดังนั้นหากคุณไม่ต้องการให้เกิดค่าตัวนี้สูงๆ การเรียนรู้ที่จะวางแผนการเทรด forex ทุกครั้งก่อนทำการเทรดจริง น่าจะเป็นทางออกในการลดค่า % ของ Drawdown
3.การขาดหลักจิตวิทยาการลงทุน
เรื่องสุดท้ายคือ การขาดหลักการที่เรียกกันง่ายๆว่า จิตวิทยาการลงทุน (Psychology of Investing) หรือหากกล่าวกันตามตรงแล้ว คือการเล่นกับความโลภที่อยู่ภายในใจของเรานั่นเอง หากคุณไม่ต้องการให้ตนเองนั้นขาดทุนและเกิดค่า Drawdown เป็นจำนวนมาก
“จงเทรด forex อย่างมีสติ และรู้จักเรื่องของการวางแผนในการเทรด พร้อมทั้งมีกลยุทธ์ที่ดีด้วย”
ผมชอบเรื่องของ Forex อย่างหนึ่งคือ มันเหมือนการปฏิบัติธรรมจริงๆ ผมพบว่าหากใจเรานิ่ง สุขุม มีสติ ก็จะสามารถเทรด Forex ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลายๆคนที่เทรดประสบความสำเร็จก็บอกเช่นนั้นครับ
เราได้ประโยชน์อะไรจากการอ่านค่า Drawdown
1.ช่วยบอกให้รู้ว่า เราเข้าโซนอันตรายหรือยัง
สิ่งแรกที่สำคัญที่สุดคือ ค่า Drawdown ยิ่งมี % เข้าใกล้ 100 มากเท่าไหร่ นั่นหมายถึงโอกาสที่เรากำลังจะเข้าสู่การล้างพอร์ตกำลังเดินทางมาถึงแล้วในไม่ช้า ดังนั้นอย่าปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวโดยเด็ดขาด คุมค่าตัว Drawdown ให้ต่ำเข้าไว้
2.ตัวเลขที่ปลอดภัยของค่านี้คืออย่าเกิน 25
ผมยอมรับว่าค่อนข้างขี้ตื่นกลัวมากไปหน่อย ดังนั้นค่า Drawdown ที่ผมคิดว่าเหมาะสมมากที่สุดและปลอดภัยที่สุดสำหรับผมคือ ประมาณ 25-30% จงรักษาค่าให้อยู่ประมาณนี้แล้วผมการันตีว่าพอร์ต Forex ของคุณจะไม่ได้รับความเสียหายอย่างแน่นอนครับ
Drawdown กับการทดสอบกลยุทธ์ (Backtesting)
การทดสอบกลยุทธ์ย้อนหลัง หรือที่เรียกว่า Backtesting เป็นขั้นตอนสำคัญมากๆ ใน “การพัฒนาระบบเทรด”ของเรา และค่า Drawdown ก็เป็นหนึ่งในตัวสำคัญที่ต้องให้ความสนใจในระหว่างการทำ Backtesting นี่แหละครับ มาดูกันว่าเราจะใช้ Drawdown ในการทดสอบกลยุทธ์ได้ยังไงบ้าง
- ใช้ Drawdown เป็นเกณฑ์ในการคัดกรองกลยุทธ์
ถ้าคุณกำลังทดสอบกลยุทธ์หลายๆ แบบ สิ่งที่คุณควรทำคือ ตั้งเกณฑ์ Drawdown สูงสุดที่คุณยอมรับได้ เช่น 20% ถ้ากลยุทธ์ไหนที่ผลการทดสอบย้อนหลังแสดงค่าที่เกินกว่านี้ ก็ให้ตัดทิ้งไปเลยครับ ไม่ต้องเสียเวลาพิจารณาต่อ
- วิเคราะห์ช่วงเวลาที่เกิด Drawdown สูงสุด
ระหว่างทำ Backtesting ให้สังเกตช่วงเวลาที่เกิด Drawdown สูงสุด แล้วลองวิเคราะห์ดูว่าเกิดอะไรขึ้นในตลาดช่วงนั้น เป็นช่วงข่าวที่สำคัญหรือเปล่า? หรือเป็นช่วงที่ตลาดผันผวนกว่าปกติ? ข้อมูลพวกนี้จะช่วยให้คุณรับมือกับสถานการณ์แบบนั้นได้ดีขึ้นครับ
- ใช้การทดสอบในหลายๆ ช่วงเวลา
อย่าพึ่งดีใจครับถ้าทดสอบแล้วเจอ Drawdown ต่ำ ๆ ให้ลองทดสอบในหลายๆ ช่วงเวลาดูก่อน ทั้งตลาดขาขึ้น ขาลง และช่วงที่ตลาด sideway ดูว่า Drawdown เป็นยังไงบ้าง ถ้าเจอว่ามันต่ำในทุกสภาวะตลาด นั่นแหละครับ ถึงจะเรียกว่าเป็นกลยุทธ์ที่แข็งแกร่งจริงๆ
- เปรียบเทียบ Drawdown กับผลตอบแทน
ในการทำ Backtesting อย่าดูแค่ Drawdown อย่างเดียว ให้เปรียบเทียบกับผลตอบแทนด้วย บางทีกลยุทธ์ที่มี Drawdown สูงหน่อย อาจให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากว่าก็ได้ แต่ยังไงก็ต้องระวังไม่ให้ Drawdown สูงเกินไปจนเรารับไม่ไหวครับ
- ทดสอบการปรับแต่งตัวแปรในระบบเทรดเพื่อลด Drawdown
ถ้าคุณเจอว่ากลยุทธ์ของคุณมี Drawdown สูงเกินไป ให้ลองปรับระบบเทรดดูก่อน เช่น ปรับจุด Stop Loss, Take Profit หรือเงื่อนไขในการเข้า-ออกออเดอร์ แล้วทำ Backtesting ใหม่ ดูว่าค่า Drawdown ลดลงไหม แล้วกำไรเป็นยังไงบ้าง
การทำ Backtesting กับการวิเคราะห์ Drawdown เป็นทักษะที่ต้องฝึกฝน ยิ่งทำบ่อย ยิ่งวิเคราะห์เยอะ ทั้งคุณและระบบเทรดของคุณก็จะยิ่งเก่งขึ้นตามไปด้วยครับ
วิธีการกำหนดและรับมือกับ Drawdown ในแผนการเทรด
1. ใช้ Leverage ให้เหมาะสม
- การใช้ Leverage เป็นวิธีที่สำคัญในการลดความเสี่ยงของการขาดทุน
- หลีกเลี่ยงการใช้เลเวอเรจที่มากเกินไป และแนะนำให้มือใหม่ใช้แค่ 1:100 ก็พอครับ มั่นใจค่อยใส่เพิ่ม
2. จำกัดขอบเขตของ Drawdown
- ตั้งค่าลิมิตของ Drawdown รายวัน รายสัปดาห์ หรือรายเดือน เพื่อช่วยป้องกันการขาดทุน โดยกำหนดไว้ที่ ไม่เกิน 20-30% ของเงินลงทุนทั้งหมด
- ควรหยุดเทรดทันที เมื่อแผนที่วางไว้ไม่เป็นไปตามที่เราคาดหวัง
3. กำหนดเป้าหมาย TP/SL (Take profit / Stop loss) ให้ชัดเจน
- ควรกำหนด “อัตราส่วนผลตอบแทน หรือ Risk Reward Ratio (R:R)” ให้ชัดเจน และผลตอบแทนต้องมากกว่าความเสี่ยงเสมอ คือ ไม่ควรตั้ง TP น้อยกว่า SL นั่นเองครับ ไม่งั้นจะได้ไม่คุ้มเสีย เช่น กำหนดไว้ที่ 1:3
4. ควรหยุดเทรดทันทีเมื่อได้กำไรตามเป้า
- เพราะการเทรดบ่อยๆ จะทำให้อารมณ์ไม่นิ่ง ความโลภอาจครอบงำคุณได้ ทำให้เราเปิดขนาดล็อตที่สูงขึ้น เพื่อหวังกำไรที่มากขึ้น โดยลืมแผนการเทรดที่วางไว้ตั้งแต่ต้น ถ้าหากกราฟวิ่งสวนทางกับออเดอร์ที่เปิด เราจะขาดทุนทันที ทำให้ % Drawdown เพิ่มสูงขึ้นได้
บทสรุปเกี่ยวกับ Drawdown
คุณควรตรวจสอบและพัฒนาระบบการเทรดของตัวเองอยู่เสมอ และค่า Drawdown ก็เปรียบเสมือนเครื่องมือที่ช่วยในการตรวจสอบความเสี่ยงและเช็คระบบการทุนของคุณเอง ซึ่งนั่นหมายความว่าให้สมัคร ใช้บริการ Myfxbook ไว้ครับ เพราะที่นั่นมีการคำนวน DD แบบอัตโนมัติให้คุณได้ใช้วิเคราะห์ระบบเทรดของตัวคุณเองได้แบบง่ายๆ
ถ้าเกิดการขาดทุนติดต่อกันหลายๆครั้ง Drawdown ก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เราอาจจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการซื้อขายใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับสภาวะของตลาดในช่วงเวลานั้นๆ
Drawdown จะมีกล่าวกันถึงอย่างมากในเรื่องของ Money management ค่า Drawdown ใน % มากๆ จะทำให้นักลงทุนเกิดความกดดันอย่างมาก ทำให้เสียความมั่นใจ วิตก กลัว จนพอร์ตของคุณมีปัญหา แต่ถ้าคุณมีแผนการเทรดที่ดีและทำตามระบบอย่างเคร่งครัด
“คุณจะรู้ว่าคุณกำลังทำอะไรอยู่ สุดท้ายคุณก็จะเอาชนะเกมเทรดของคุณได้ครับ”
ทีมงาน: forexthai.in.th