Forexthai.in.th ย่อให้

  • ระบบเทรด Trading Made Simple (TMS) เป็นระบบเทรดที่เหมาะกับการเทรดระยะสั้น
  • เครื่องมือที่ใช้ TDI รวมการวิเคราะห์แนวโน้ม โมเมนตัม และความผันผวนเข้าไว้ด้วยกัน
  • Heikin Ashi แท่งเทียนแบบราคาเฉลี่ย ช่วยให้ระบุแนวโน้มและรูปแบบการเปลี่ยนแปลงได้ง่ายขึ้น
  • เงื่อนไขการเข้าเทรดไม่ซับซ้อน เส้นเขียวตัดแดงขึ้นบนคือซื้อ เส้นเขียวตัดแดงลงล่างคือขาย
  • ระดับ 30-50-70 มีการกำหนดระดับ Momentum ให้มองเห็นภาวะตลาดได้ชัดเจน

Trading Made Simple (TMS)

Trading Made Simple หรือ TMS นี่คือระบบเทรดที่มีจำนวนผู้ติดตามมากที่สุดในฟอรั่ม Trading Systems ของเว็บ Forexfactory โดยมีเทรดเดอร์มากกว่าหนึ่งแสนรายที่ติดตามอยู่

ระบบเทรด TMS ใช้ตัวชี้วัดหลัก ๆ คือ TDI และ HA เพื่อช่วยในการหาสัญญาณเทรด ที่เหลือก็แล้วแต่ความชอบของนักเทรดแต่ละคนจะนำมาใช้เพิ่มเติม ตามความถนัดของตัวเอง เป็นหนึ่งในระบบเทรดที่ใช้งานได้ฟรี ที่น่าสนใจมาก ๆ เลยครับ

ระบบเทรด Trading Made Simple (TMS)
ระบบเทรด Trading Made Simple (TMS) เป็นระบบเทรดที่ได้รับความนิยมสูง

ข้อมูลเบื้องต้น

Trading Made Simple คือระบบเทรดที่เหมาะกับการเทรดระยะสั้น ใช้ร่วมกับกราฟ H1 หรือ H4 โดยใช้อินดิเคเตอร์ TDI จับสัญญาณ Momentum ของราคา เพื่อหาสัญญาณการเทรดพร้อมกับตรวจสอบดูว่ามันมีแนวโน้มที่จะไปต่อได้ไหม โดยจะใช้ร่วมกับกราฟราคาแบบ Heikin Ashi (HA) หรือกราฟราคาแบบเฉลี่ย

เมื่อนำสองสัญญาณเทรดมาพิจารณาร่วมกัน ระบบเทรด Trading Made Simple จึงเป็นระบบที่ให้สัญญาณการเทรดที่ “ชัดเจนและแม่นยำสูงทีเดียว” นอกจากนั้นยังสามารถใช้ร่วมกับ Indicator ตัวอื่น ๆ ได้ด้วย

อินดี้ที่ใช้ในระบบเทรด Trading Made Simple
เครื่องมือที่ใช้คือ Traders Dynamic Index (TDI) และแท่งเทียน Heikin Ashi (HA)

เครื่องมือที่ใช้

ระบบเทรด Trading Made Simple หรือ TMS จะใช้ตัวชี้วัด (Indicator) ที่เป็นตัวให้สัญญาณหลัก เพื่อพิจารณาก่อนตัดสินใจเข้าเทรด มีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ

1. Traders Dynamic Index (TDI)

Traders Dynamic Index (TDI) เป็นเครื่องมือวิเคราะห์ทางเทคนิคที่ใช้โดยนักเทรดและนักลงทุนเพื่อประเมินสภาวะตลาดและคาดการณ์การเคลื่อนไหวของราคา โดยรวมเอาการวิเคราะห์แนวโน้ม โมเมนตัม และความผันผวนเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้ได้มุมมองตลาดที่ครอบคลุม

Trading Made Simple (TMS): Traders Dynamic Index (TDI)
TDI เป็นการรวม Indicator อย่าง RSI และ Moving Average (MA) มาใช้ในการวิเคราะห์ราคา

TDI ถูกพัฒนาโดย Dean Malone และเป็นตัวชี้วัดที่หลากหลายสามารถนำไปใช้กับกรอบเวลาและสภาวะตลาดที่ต่างกัน เป็นการรวมกันของตัวชี้วัดยอดนิยมสามตัว ดังนี้

    • Relative Strength Index (RSI) – วัดโมเมนตัมของราคา
    • Moving Average (MA) – ช่วยระบุแนวโน้ม
    • Bollinger Bands (BB) – วัดความผันผวน

2. Heikin Ashi (HA)

Heikin Ashi (HA) เป็นคำที่มีความหมายว่า “แถบเฉลี่ย” เป็นประเภทของกราฟแท่งเทียนญี่ปุ่นที่พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยให้เทรดเดอร์ระบุแนวโน้มและรูปแบบการเปลี่ยนแปลงราคาได้ง่ายขึ้น

กราฟแท่งเทียน Heikin Ashi นั้น มีความเรียบเนียนกว่า กราฟแท่งเทียนแบบดั้งเดิม เนื่องจากกราฟ HA มีการคำนวณราคาเปิด ราคาปิด จุดสูงสุด และจุดต่ำสุด โดยใช้วิธีการเฉลี่ย แทนที่จะใช้ราคาจริง ซึ่งมีข้อดี ดังนี้

    • ลดสัญญาณรบกวน: ช่วยให้มองเห็นแนวโน้มและรูปแบบราคาได้ชัดเจนขึ้น
    • จุดเปลี่ยนที่ชัดเจน: รูปแบบแท่งเทียน Heikin Ashi นั้นมีรูปแบบที่ชัดเจนกว่า
    • เหมาะสำหรับการเทรดระยะสั้น: ช่วยให้เทรดเดอร์สามารถระบุโอกาสในการซื้อขายระยะสั้นได้ง่ายขึ้น
Trading Made Simple (TMS): Heikin Ashi (HA)
Heikin Ashi เป็นแท่งเทียนแบบราคาเฉลี่ยของ ราคาเปิด ราคาปิด จุดสูงสุด และจุดต่ำสุด

เงื่อนไขการเข้าเทรด

ระบบเทรด TMS มีเงื่อนไขการเข้าเทรดที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อนแต่อย่างใด ดูที่ “การตัดกันของเส้นเขียวและเส้นแดงเท่านั้น” เงื่อนไขก็คือ

  • เส้นเขียวตัดเส้นแดงขึ้นข้างบน คือสัญญาณ ซื้อ (BUY)
  • เส้นเขียวตัดเส้นแดงลงข้างล่าง คือสัญญาณ ขาย (Sell)

การวิเคราะห์ด้วยระบบเทรด TMS นั้น เพียงแค่มองหาการไขว้กันของเส้นเขียวและเส้นแดงเมื่อแท่งเทียนปิด ถ้ามีการไขว้กันที่ชัดเจนเกิดขึ้น นั่นคือสัญญาณเทรดที่ดี

การเข้าเทรดด้วยระบบเทรด Trading Made Simple (TMS)
ระบบเทรด TMS เข้าเทรด Sell เมื่อแท่งเทียนสีแดง เข้าเทรด Buy เมื่อแท่งเทียนสีเขียว

สิ่งที่ที่ต้องระวังคือ ระหว่างที่แท่งเทียนยังไม่ปิด สัญญาณ TDI ยังสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้นการพิจารณาสัญญาณจึง “ควรรอให้แท่งเทียนปิดเสียก่อนเพื่อความชัดเจน”

การวิเคราะห์ราคาด้วย TDI

Indicator TDI คิดค้นขึ้นโดย Dean Malone แห่ง Compass FX เขาได้พัฒนา TDI ขึ้นมาจาก RSI เขาต้องการอินดี้ที่บอก 3 สิ่ง ได้แก่ Momentum, Trend และ Signal จึงออกมาเป็น

  • เส้นสีเขียว เป็นตัวชี้วัด Momentum
  • เส้นสีเหลือง เป็นตัวชี้วัด Trend
  • เส้นสีแดง เป็นตัวชี้วัด Signal
การวิเคราะห์ราคาด้วย TDI
เส้นสีเขียวเป็นตัวชี้วัด Momentum เส้นสีเหลืองชี้วัด Trend เส้นสีแดง ชี้วัด Signal

การพิจารณาเส้นสีเขียว

ไอเดียในการพิจารณาเส้นสีเขียวคือ ยิ่งเส้นเขียวทำองศา “ขึ้น/ลง” มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีแรงส่งตามมามากเท่านั้น ถ้าเส้นสีเขียวมีช่วงที่จะลงก็ไม่ได้ จะขึ้นก็ไม่ได้ แกว่งตัวในแนวแบนราบ แบบนั้นไม่มีพลัง แต่ถ้าทำมุมขึ้นหรือลงชัดเจน นี่เองคือลักษณะของเส้นเขียวที่มีพลัง

การพิจารณาระดับ 30-50-70

ต่อมาคือการพิจารณาระดับ 30, 50, และ 70 ซึ่งในตัวอินดี้ ที่มีให้ใช้นั้น จะมีการวางเส้นประไว้ให้แล้ว ระดับของเส้นสีเขียวจะบ่งบอกว่า Momentum ของราคามีแนวโน้มจะไปทางไหน โดยมีเงื่อนไข ดังนี้

  • ต่ำกว่า 50 = Momentum ขาลง
  • สูงกว่า 50 = Momentum ขาขึ้น
  • สูงกว่า 70 = Overbought
  • ต่ำกว่า 30 = Oversold
การวิเคราะห์ราคาด้วย TDI: พิจารณาระดับ 30-50-70
ระดับต่ำกว่า 30 เป็นภาวะ Oversold ต่ำกว่า 50 คือแรงขาย สูงกว่าคือแรงซื้อ เกิน 70 เป็น Overbought

ตำแหน่งการตัดกันของ เขียว-แดง

ตำแหน่งที่เกิดการตัดกันของเส้นเขียวและเส้นแดง ที่เกิดขึ้นในระดับต่าง ๆ ก็มีความหมายเช่นกัน สมมุติว่าเส้นเขียวเกิดการตัดเส้นแดงไขว้ขึ้นข้างบน ซึ่งเป็นสัญญาณ Buy แล้วเกิดที่ระดับต่าง ๆ กัน ดังภาพต่อไปนี้

การวิเคราะห์ราคาด้วย TDI: ตำแหน่งการตัดกันของเส้นเขียวและเส้นแดง
ตำแหน่งการตัดกันของสัญญาณ TDI มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงราคาอย่างมีนัยสำคัญ

จากภาพตัวอย่าง: จะเห็นได้ว่า

  • ภาพตัวอย่างที่ 1: ตำแหน่งการตัดกันของเส้นสีเขียวอยู่ต่ำมาก แปลว่า Momentum กำลังลง ดังนั้นจึงไม่ใช่สัญญาณ Buy ที่ดี
  • ภาพตัวอย่างที่ 2: ตำแหน่งการตัดกันของเส้นสีเขียวตัดขึ้นหาแนว 50 และมีพื้นที่มากมายกว่าจะถึงระดับ 70
  • ภาพตัวอย่างที่ 3: ตำแหน่งการตัดกันของเส้นสีเขียวแม้จะอยู่เหนือ 50 แต่ก็สูงเกินไปจนใกล้ระดับ overbought แล้ว

ดังนั้น จากภาพตัวอย่างทั้งหมด “สัญญาณที่ถือว่าสวย คือสัญญาณจากภาพตัวอย่างที่ 2 เท่านั้น” พิจารณาได้ไม่ยากเลยใช่ไหมครับ

การวิเคราะห์ด้วย TDI ที่มีคุณภาพ

ในการวิเคราะห์แนวโน้มของราคาด้วย TDI นั้น เราสามารถใช้เส้นแดงและเส้นเหลืองมาช่วยเพิ่มโอกาสในการทำกำไรของเราได้ มาดูตัวอย่างการวิเคราะห์กราฟ ดังต่อไปนี้

การวิเคราะห์ด้วย TDI ที่มีคุณภาพ
ภาพตัวอย่าง แสดงการเกิดสัญญาณ TDI ในตำแหน่งต่าง ๆ บนระดับที่ต่างกันด้วย

จากภาพตัวอย่าง: สามารถทำการวิเคราะห์ด้วย TDI ที่มีคุณภาพได้ ดังนี้

  • สัญญาณที่ 1: สัญญาณ Sell แต่เกิดสูงเกินไป เส้นเขียวสวนทางกับเหลือง แม้ว่าแดงจะหันตามมา แต่ก็ถือว่าเป็นสัญญาณที่ไม่มีคุณภาพ
  • สัญญาณที่ 2: สัญญาณสับสน เส้นเขียวไปทางเดียวกับเหลือง แต่ยังสวนไปมากับแดง แบบนี้ถือว่ายังไม่ชัวร์ครับ
  • สัญญาณที่ 3: สัญญาณ Buy เส้นเขียวตัดกับแดงในตำแหน่งที่ดี แต่ยังสวนทางกับเหลืองอยู่ ถือว่าไม่มีคุณภาพเช่นกัน
  • สัญญาณที่ 4: สัญญาณ Buy เป็นการตัดกันในตำแหน่งที่ดี อีกทั้งเส้นเขียว เหลือง และแดง ต่างวิ่งไปทางเดียวกัน อย่างนี้ถือว่าเป็นสัญญาณที่มีคุณภาพ
  • สัญญาณที่ 5: สัญญาณ Sell เกิดการตัดกันแต่อยู่สูงเกินไป อีกทั้งสวนทางกับเหลืองและแดง อย่างนี้ตัดทิ้งได้เลย

จากตัวอย่างที่ยกมา จะเห็นได้ว่าด้วยการวิเคราะห์ TDI เพียงอย่างเดียว เราสามารถลดการขาดทุนได้ถึง 4 ครั้ง ถือว่ามีคุณภาพที่ดีเลยจริงไหมครับ

แท่งเทียน HA
แท่งเทียน HA มีต้นกำเนิดมาจากประเทศญี่ปุ่น เรียกว่า Synergy Bar หรือ Average Price Bar ก็ได้

แท่งเทียน Heikin Ashi (HA)

แท่งเทียน Heikin Ashi หรือย่อว่า HA แปลว่าแท่งเฉลี่ย มีต้นกำเนิดมาจากทางญี่ปุ่น หลักการทำงานคล้าย ๆ เส้น MA คือ มีการหารเฉลี่ยค่าต่าง ๆ จากแท่งเทียนหลายแท่ง เพียงแต่ไม่ได้ลากเป็นเส้น แต่สร้างเป็นแท่งกราฟแทน แท่งเทียน HA นั้น ยังมีชื่อเรียกอีก 2 ชื่อ ได้แก่

  1. Synergy Bar: เรียกตามชื่อระบบเทรดของ Dean Malone
  2. Average Price Bar: หรือเรียกย่อ ๆ ว่า APB

การวิเคราะห์ด้วย Heikin Ashi

สำหรับระบบเทรด Trading Made Simple นั้น จะใช้แท่งเทียน Heikin Ashi มาวิเคราะห์ราคาด้วยวิธีการนับแท่งเมื่อเปลี่ยนสีครับ เพราะเมื่อแท่งเปลี่ยนสีย่อมหมายถึงการเปลี่ยนทิศทาง เพียงแต่อย่ารีบเข้าเทรดตั้งแต่แท่งแรก ๆ โดยมีข้อควรระวังดังนี้

  • ต้องรอให้ปิดแท่งก่อน: คือตอนแท่งยังไม่ปิด มันยังสามารถเปลี่ยนสีได้ จึงควรรอให้แท่งปิดเสียก่อนเพื่อคอนเฟิร์มสี
  • ควรมีแนวโน้มที่ชัดเจน: คือทิศทางของราคาควรที่จะชัดเจน ระหว่างที่กราฟยังเป็นรูปแบบ Side Way ไม่ควรเทรด
การวิเคราะห์ราคาด้วยแท่งเทียน Heikin Ashi
การวิเคราะห์ราคาด้วยแท่งเทียน Heikin Ashi ตามแนวโน้ม ตั้งแต่เริ่มแกว่งตัวจนราคาวิ่งแรง

จากภาพตัวอย่าง: วิเคราะห์การเข้าเทรด ดังนี้

  1. ราคาแกว่งตัวแคบ: ในช่วงที่เป็นแท่งเล็ก ๆ ราคาวิ่งออกด้านข้าง มีการสลับสีแคบ ๆ บ่อย อย่าเพิ่งเทรด
  2. ราคาเริ่มแสดงทิศทาง: ราคาเริ่มแสดงให้เห็นทิศทางที่ชัดเจน แต่ยังไม่มีการไขว้ของ TDI อย่าเพิ่งเทรดเช่นกัน
  3. สีแท่งเทียนกับสัญญาณ TDI: เกิดสัญญาณการตัดกันของ TDI ในระดับที่ดี ไปในทิศทางเดียวกับสีของกราฟแท่ง HA นี่คือสัญญาณเทรดที่มีคุณภาพ

Exit Strategy ของระบบเทรด TMS

ระบบการเทรดแบบ TMS ไม่ได้ระบุการวาง TP หรือ SL ไว้ชัดเจน ดังนั้น Exit Strategy ของระบบเทรด TMS จึงมีหลายวิธี เทรดเดอร์แต่ละคนก็ใช้วิธีที่แตกต่างกันออกไป แต่ละวิธีก็มีข้อดีข้อเสียต่างกัน ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้

Trail Stop Last Bar:

การออกจากการเทรดแบบ Trail Stop Last Bar นี้ เป็นวิธีของ Dean Malon โดยมีวิธีจัดการดังนี้

  • วาง SL ที่แท่งแรก: เมื่อเกิดสัญญาณและเข้าเทรด จะทำการวาง SL ไว้หลังแท่งสัญญาณแรกนั้นเลย
  • เลื่อน SL ตาม: เมื่อขึ้นแท่งเทียนใหม่ ให้ทำการเลื่อน SL ตามหลังแท่งเทียนอันก่อนล่าสุดไปเรื่อย ๆ

ข้อดีของวิธีนี้คือมีโอกาสทำกำไรเยอะ ๆ ได้ เพียงแต่ถ้ามันวิ่งยาวแล้วกลับตัวในแท่งเดียว นี่ก็แย่หน่อย ควรจะ Trail SL แบบนี้ควบคู่กับวาง TP ด้วย จะเป็นการดีที่สุด

การใช้ Trail Stop Last Bar เพื่อออกจากการเทรด
การออกจากการเทรดแบบ Trail Stop Last Bar เป็นการเลื่อน SL ตามจุดสูงสุดของแท่ง HA อย่างต่อเนื่อง

TDI Exit

วิธีออกจากการเทรดแบบ TDI Exit นี้ เป็นวิธีของ Big E เขาจะปิดออเดอร์เมื่อ TDI เส้นเขียวหักมุมกลับไปอีกทาง และ Big E เขาไม่ใส่ใจกับการวาง SL นัก เขาจะตั้งเอาไว้ที่ 50-100 pips เผื่อฉุกเฉินเท่านั้น

การใช้ TDI Exit เพื่อออกจากการเทรด
การออกจากการเทรดแบบ TDI Exit เป็นการออกเมื่อ TDI เกิดสัญญาณตัดกันแบบสวนทาง

S/R Exit (Support/Resistance)

การออกจากการเทรดแบบ S/R Exit คือการออกด้วย Support (แนวรับ) และ Resistance (แนวต้าน) เป็นวิธีที่ทำได้ง่ายที่สุดจากการเทรด Price Action คือวาง TP หรือ SL ที่แนวรับหรือแนวต้านเลย

จุดอ่อนของระบบ TMS

ระบบเทรด Trading Made Simple (TMS) เป็นระบบเทรด forex ที่มีประสิทธิภาพและใช้งานง่าย แต่ก็มีจุดอ่อนบางประการที่ควรทราบ ดังนี้

สัญญาณเท็จ:

เช่นเดียวกับระบบเทรดอื่น ๆ TMS ก็สามารถสร้างสัญญาณเท็จได้ เทรดเดอร์จำเป็นต้องมีการวิเคราะห์เพิ่มเติมเพื่อยืนยันสัญญาณก่อนตัดสินใจเข้าเทรด

ความต้องการวินัย:

การเทรดด้วยระบบ TMS ให้ประสบความสำเร็จ จำเป็นต้องมีวินัยในการปฏิบัติตามกฎของระบบอย่างเคร่งครัด

การใช้ตัว Indicator เพิ่มเติม:

การใช้ตัว Indicator เพิ่มเติม ควรทำอย่างระมัดระวัง เพราะอาจทำให้สัญญาณจากระบบ TMS มีความซับซ้อนและตีความยากขึ้น

ระบบเทรด TMS เป็นระบบเทรด forex ที่มีประสิทธิภาพและใช้งานง่าย แต่เทรดเดอร์ควรทราบถึงจุดอ่อนของระบบ ศึกษาความรู้ ฝึกฝน และควบคุมอารมณ์ เพื่อเพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จที่ดีได้

อ้างอิง

ชื่อระบบเทรด Trading Made Simple ใน tradingview.com คือ TDI – [Goldminds, Edited for MMM by Jakub Donovan]

สูตรคำนวณ HA สำหรับผู้สนใจ

http://en.wikipedia.org/wiki/Candlestick_chart#Heikin_Ashi_candlesticks

Link โหลด Indicator ที่ต้องใช้

https://www.dropbox.com/sh/ezbt6dmcjpynbrs/AADsaYHcEyo0SNFGqweS7HCQa?dl=0

ทีมงาน: forexthai.in.th

แสดงข้อคิดเห็น ให้กำลังใจ

comments

สารบัญบทความ