Forexthai.in.th ย่อให้
- Momentum Indicator คือ อินดิเคเตอร์ที่อยู่ในกลุ่มของ Oscillator ใช้วัดการแกว่งตัวของราคา บอกความเร็วและทิศทางตลาด Forex
- ใช้วัดการแกว่งตัวของราคา บอกความเร็วและทิศทางตลาด เช่น ตลาดกำลังเร่งตัว ชะลอลง หรือหมดแรงส่ง
- นำมาใช้คาดการณ์จุดกลับตัวหรือช่วงพักฐาน และโอกาสที่ราคาจะวิ่งต่อเนื่อง
- สามารถใช้ร่วมกับการวิเคราะห์แนวโน้ม Divergence เพื่อดูการกลับตัวของราคาและเส้น 100 เพื่อหาจุดเข้า-ออกที่ดี
- ระวังสัญญาณหลอกในช่วง Sideways และความล่าช้าของข้อมูล (Lag Time)
Momentum คืออินดิเคเตอร์หนึ่งที่อยู่ในกลุ่มของ Oscillator เป็นต้นแบบของอินดิเคเตอร์หลาย ๆ ตัวของประเภท Momentum แน่นอนว่าชื่อของอินดิเคเตอร์ก็บอกอย่างตรงตัวอยู่แล้ว แต่เชื่อว่ามีเทรดเดอร์จำนวนมากมองข้าม และน้อยนักที่จะเข้าใจมันจริง ๆ
สารบัญบทความ click เพื่อเลือกอ่าน !!
Momentum Indicator คืออะไร?
Momentum Indicator ใช้วัดการแกว่งตัวของราคา ซึ่งพูดให้เห็นภาพแบบง่ายก็คือ “วัดความเร็วและแรง” ของตลาด Forex ครับ อย่างเช่น ตลาดกำลังเร่งความเร็ว ชะลอตัว หรือกำลังจะหมดแรงส่ง
ถ้าราคามี Momentum สูง แสดงว่ากำลังมีแรงซื้อหรือขายเข้ามาอย่างหนัก โอกาสที่ราคาจะวิ่งต่อเนื่องก็มีสูง แต่ถ้า Momentum ต่ำ อาจหมายถึงราคากำลังจะเปลี่ยนทิศทางหรือเข้าสู่ช่วงพักตัว
ที่สำคัญ Momentum Indicator ยังช่วยให้เราเห็นสัญญาณที่อาจมองข้ามไปด้วยตาเปล่า เช่น จังหวะที่ราคากำลังจะกลับตัว หรือช่วงที่ตลาดกำลังสะสมพลังเพื่อเคลื่อนที่แบบรุนแรง
ทำไม Momentum จึงมีความสำคัญ
ลองนึกภาพดูนะครับ ถ้าคุณเข้าใจกราฟ และรู้ว่ากราฟจะไปได้ไกลแค่ไหน จะหยุดตรงไหน แน่นอนว่าหลายคนคงจะขายบ้านขายรถเพื่อมาเทรดกันเลย แต่ในความเป็นจริงไม่มีใครรู้หรอกครับว่าอนาคตจะเป็นยังไง การเทรดด้วย Momentum อาจจะไม่ได้บอกว่ากราฟจะไปไกลได้อีกเท่าไหร่ แต่มันบอกได้ว่า:
- มีโอกาสที่ราคาจะหยุดตรงไหน
- จะชะลอตัวเมื่อไหร่
- มีโอกาสที่จะกลับตัวอีกเมื่อไหร่
บ่อยครั้งรูปแบบหรือแพทเทิร์น ที่เราคิดว่าราคาจะกลับตัวแต่มันก็ไม่เกิดขึ้น หรือบางทีเราคิดว่ากราฟจะไปต่อ แต่ดันเกิดการกลับตัวซะงั้น นี่แหละครับที่นอกจากพฤติกรรมที่เกิดขึ้นของกราฟแล้ว เรื่องของแรงหรือ Momentum ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน และถ้าสองสิ่งนี้ทำงานสนับสนุนกัน ก็มีโอกาสที่จะชนะตลาดได้มากกว่า
เครื่องยนต์ดีแต่ไม่มีน้ำมัน ก็ไปได้ไม่ไกล
Momentum ใน MT4 และ MT5
ในโปรแกรม MetaTrader จะมีอินดิเคเตอร์ Momentum Indicator มาให้ใช้กันฟรี ๆ ถือว่าเป็นอินดิเคเตอร์สามัญประจำโปรแกรม ที่ทุกคนควรมีติดไว้ใช้ และสามารถเรียกใช้ได้ตลอดเวลา
สูตรในการหาค่าของ Momentum
MOMENTUM = CLOSE(i) / CLOSE(i-N) * 100
โดย
- CLOSE(i) คือ ราคาปิดของแท่งเทียนปัจจุบัน
- CLOSE(i-N) คือ ราคาปิดของแท่งเทียนที่เรากำหนด ใน Period โดยมาตรฐานจะใช้ 14 วัน หรือ 14 แท่งย้อนหลัง
Momentum บอกอะไรเราได้บ้าง?
นับว่าเป็นอินดิเคเตอร์ต้นแบบ ที่ถูกพัฒนาไปเป็นอินดิเคเตอร์ตัวอื่น ๆ ดังนั้น การให้ข้อมูลหรือการวิเคราะห์จะมีคล้าย ๆ กับเครื่องมือที่เทรดเดอร์คุ้นเคยนั่นก็คือ
Divergence – สัญญาณเตือนการกลับตัว
เมื่อราคากับ Momentum ทำงานสวนทางกัน นั่นคือสัญญาณ Divergence ครับ โดยสังเกตจากสวิงของราคาและสวิงของกราฟ Momentum ที่มีความสูงต่ำไม่เท่ากัน แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของแนวโน้ม “ว่ามีโอกาสที่ราคาจะกลับตัวหรือพักฐาน” นั่นเอง
- ในแนวโน้มขาขึ้น ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง แต่อยู่ ๆ Momentum กลับลดตัวต่ำลง แสดงให้เห็นว่าแรงซื้อกำลังอ่อนแรงลง เสมือนการขับรถขึ้นที่สูงแล้วความเร็วค่อย ๆ ชะลอลง อาจจะมีการกลับตัวหรือพักตัวในไม่ช้า
- ในแนวโน้มขาลง ที่มีแรงขายเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ในเวลาเดียวกัน Momentum กลับไม่ได้ต่ำลงตามที่มันควรจะเป็น นั่นแสดงว่าแรงขายก็ค่อย ๆ ลดน้อยลงเช่นเดียวกัน อาจจะมีการกลับตัวหรือพักตัวเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้
เส้น 100 – จุดอ้างอิงสำคัญ
Momentum มักจะแกว่งรอบๆ ค่า 100 ครับ นี่เป็นเหตุผลที่เทรดเดอร์หลายคนนิยมเพิ่มเส้น 100 เข้าไปในกราฟ Momentum เพื่อให้สามารถใช้งานได้ง่าย
- การเปรียบเทียบราคากับ Momentum ให้ดูที่ราคาว่ามีแนวโน้มไปยังทิศทางใด เช่น ถ้าเป็นแนวโน้มขาขึ้น แล้วเส้น Momentum กำลังสูงขึ้นกว่าเส้นร้อย นั่นแสดงว่าแรงในฝั่ง Buy กำลังเพิ่มขึ้นนั่นเอง และในฝั่งขาลงก็เช่นเดียวกัน
- หาแนวโน้มง่าย ๆ คือ ถ้าเส้น Momentum อยู่สูงกว่าเส้นร้อย นั่นแสดงว่ากำลังเป็นแนวโน้มขาขึ้น หรือเส้น Momentum อยู่ต่ำกว่าร้อย นั่นแสดงว่าเป็นแนวโน้มขาลง หรือเล่นฝั่งเดียวกับ Momentum คือการเล่นฝั่งเดียวกับแรงซื้อหรือขายในขณะนั้นนั่นเอง
- การเทรดตามเทรนด์ แม้ว่าเทรดเดอร์จะใช้ Momentum ในการพิจารณาเข้า เห็นว่าในฝั่งเดียวกันนั้น Momentum พุ่งสูงมาก ๆ อาจจะทำให้เข้าในช่วงที่อยู่ปลายเทรนด์ หรือแรงกำลังจะหมดก็เป็นได้ ดังนั้น บริเวณที่ดีที่จะเข้าเทรดตามเทรนด์ นั่นก็คือบริเวณที่ Momentum อยู่ใกล้เส้น 100 ไม่ว่าฝั่งใดก็ตาม เพราะนั่นแสดงว่ายังพอมีพื้นที่ให้เกิดแรงในฝั่งนั้น ๆ ได้อีก
การปรับใช้กับเครื่องมือหรือทฤษฎีต่าง ๆ
กระบวนท่าเทรดของเทรดเดอร์ในตลาดมีอยู่มากมาย การนำเอาเครื่องมือต่าง ๆ มารวมกัน เสมือนการปรุงอาหารให้กลมกล่อม การใช้เครื่องมือหลาย ๆ อย่างมาประกอบกัน จึงควรใช้แต่พอดี ดังตัวอย่างต่อไปนี้
- นำมาใช้ควบคู่กับการเทรดพฤติกรรมราคา เช่นกันใช้ยืนยันจุดเข้า รูปแบบกลับตัว หรือแพทเทิร์นต่าง ๆ เช่น ใช้ยืนยันการไปต่อ หรือใช้ยืนยันรูปแบบกลับตัวของแพทเทิร์นด้วย Divergence
- คอนเฟิร์มแนวโน้ม แม้จะกราฟเดียวกัน เทรดเดอร์หลายคนอาจจะวิเคราะห์ไม่เหมือนกัน การมีเครื่องมือชี้วัดมาช่วยเพิ่มความมั่นใจหรือเป็นการคอนเฟิร์ม ก็จะยิ่งเพิ่มความถูกต้องในการวิเคราะห์และการตัดสินใจได้เช่นเดียวกัน
ระบบเทรดที่ดี ก็เหมือนกับอาหาร ปรุงให้กลมกล่องย่อมได้รสชาติอร่อย
วิธีเปิดใช้ Momentum ใน MT4 และ MT5
- มองไปทางซ้าย แล้วหาคำว่า Indicator แล้วกด + เพื่อขยายตัวเลือก
- มองหาคำว่า Oscillators แล้วกด + ด้านหน้าเพื่อขยายตัวเลือก
- เลือกคำว่า Momentum แล้วทำการแดรกเมาส์เข้ามาในกราฟ
- จากนั้นจะมีหน้าต่างให้ปรับการตั้งค่า ให้เลือกไปที่ Levels แล้วกดที่ Add ใส่ค่า 100 เพื่อที่จะได้เส้น 100 ช่วยในการวิเคราะห์ให้ง่ายขึ้น
- จะได้อินดิเคเตอร์ที่พร้อมใช้งาน
ข้อควรระวังในการใช้ Momentum Indicator
- สัญญาณหลอก: เหมือนอินดิเคเตอร์อื่นๆ Momentum ก็อาจให้สัญญาณหลอกได้ โดยเฉพาะในตลาดที่ผันผวนสูง อย่าเชื่อ 100% ต้องใช้ร่วมกับการวิเคราะห์อื่นๆ เสมอ
- Lag Time: Momentum เป็นอินดิเคเตอร์ประเภท Lagging ซึ่งหมายความว่ามันจะแสดงผลหลังจากที่ราคาเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ดังนั้นในบางครั้งอาจจะช้าเกินไปสำหรับการเทรดระยะสั้นมาก
- ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ Overbought/Oversold: บางคนเข้าใจผิดว่าเมื่อ Momentum สูงมากหรือต่ำมาก แปลว่าต้องกลับตัวแน่นอน ซึ่งไม่จริงเสมอไป ในเทรนด์ที่แข็งแรง Momentum อาจอยู่ในระดับสูงหรือต่ำได้เป็นเวลานานเลยครับ
- ไม่เหมาะกับ Sideways: Momentum ทำงานได้ดีในตลาดที่มีเทรนด์ชัดเจน แต่อาจให้สัญญาณที่สับสนในตลาด Sideways
สรุป รู้แรงบิดพิชิตกราฟ ด้วย Momentum อินดิเคเตอร์ฟรี
Momentum Indicator คือ อินดิเคเตอร์หนึ่งที่น่าใช้ไม่แพ้ตัวใด ๆ เลย ด้วยการทำงานที่เรียบง่าย ให้ข้อมูลเพียงพอต่อการเทรด และสามารถนำไปปรับใช้ได้หลากหลาย อย่าให้ความรู้สึกต่อกราฟหลอกเมื่อทำการวิเคราะห์ ใช้เครื่องมือดี ๆ ช่วยวิเคราะห์ จะทำให้การวิเคราะห์เป็นไปอย่างถูกต้องและมีมาตรฐาน
การเทรดที่ดีต้องมีทั้งศาสตร์และศิลป์ Momentum ให้เราเห็นศาสตร์ แต่ศิลป์ในการตัดสินใจ การจัดการความเสี่ยง และการควบคุมอารมณ์ ก็สำคัญไม่แพ้กัน สุดท้ายนี้ อย่าลืมฝึกฝนและทดลองใช้ Momentum Indicator กันเยอะๆ นะครับ ยิ่งใช้บ่อย ยิ่งชำนาญ
ความแรง ไม่สำคัญเท่าระยะทาง ช้าบ้างอะไรบ้าง ถึงปลายทางทุกอย่างก็จบ
ทีมงาน: forexthai.in.th
Pingback: วิธีการใช้ Momentum Indicator คือ ? | ThaiForexBroker