Forexthai.in.th ย่อให้

  • Forex Volatility คือความผันผวนของราคาคู่เงิน Forex เป็นการวัดการเปลี่ยนแปลงของราคาในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งมีทั้งข้อดีคือโอกาสทำกำไรและข้อเสียคือความเสี่ยงที่สูงขึ้น
  • สาเหตุหลักของความผันผวนมาจากอุปสงค์และอุปทาน ซึ่งได้รับอิทธิพลจากข่าวเศรษฐกิจ, เหตุการณ์ทางการเมือง, ความเชื่อมั่นของนักลงทุน, และการเคลื่อนไหวของผู้เล่นรายใหญ่ (วาฬ)
  • ช่วงเวลาที่ตลาดผันผวนจะแตกต่างกันไปในแต่ละคู่เงิน เช่น ช่วงคาบเกี่ยวระหว่างตลาดญี่ปุ่น-ลอนดอน หรือลอนดอน-นิวยอร์ก มักจะมีความผันผวนสูงกว่าเวลาปกติ
  • ส่วนวันที่ตลาดจะผันผวนกว่าปกติคือวันที่มีประกาศข่าวสำคัญเกี่ยวกับเศรษฐกิจออกมา โดยเศรษฐกิจของสกุลเงินหลักใน Forex จะส่งผลให้ผันผวนมากกว่าปกติ

Forex Volatility

ก่อนจะเริ่มเทรด Forex อย่างจริงจัง ผมเคยได้ยินมาว่าตลาด Forex นั้นมันมีความผันผวนสูงมาก แต่ก็ยังคิดภาพไม่ออกว่าเป็นยังไง? จนกระทั่งได้เข้ามาเทรดและใช้เวลาเรียนรู้ จนสุดท้ายก็เข้าใจและเป็นที่มาของบทความนี้ครับ และในวันนี้เราจะไปรู้จักกับ Forex Volatility แบบรู้ลึกกันครับ


Forex Volatility คืออะไร ?

  • Forex Volatility ก็คือความผันผวนในตลาด Forex นั่นเองครับ เจาะลึกไปอีกมันคือการเปลี่ยนแปลงของราคาคู่เงินในช่วงเวลาหนึ่ง หากคู่เงินนั้นเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาสั้นๆ ก็เท่ากับมีความผันผวนสูง
  • การที่ตลาด Forex มีความผันผวนก็เท่ากับโอกาสในการทำกำไรมากขึ้น เพราะกำไรจากการเทรด Forex ต้องพึ่งพาราคาที่ขยับตลอดเวลาครับ
  • แต่ความผันผวนก็ต้องแลกมาด้วยความเสี่ยงเช่นกัน เพราะถ้าเราขาดการวิเคราะห์ Forex Analytics ก็เท่ากับเราไม่มีการคาดการณ์ที่มีเหตุผลเลย ราคาอาจจะเคลื่อนไปในทิศทางที่ตรงข้ามกับเรา ทำใหห้ขาดทุนได้
Volatility บอกอะไรได้บ้าง
ความผันผวนในตลาด Forex (Forex Volatility) มีความหมายที่สำคัญแก่เทรดเดอร์ เพราะมันสามารถบอกได้ว่าคู่เงินใดมีสภาพคล่องและการซื้อขายที่สูง รวมถึงความนิยมของเทรดเดอร์ที่ซื้อ-ขายสกุลเงินนั้น และความผันผวนก็คืออารมณ์ที่สะท้อนออกมาในรูปแบบของกราฟ

สาเหตุที่ตลาด Forex เกิดความผันผวน

แน่นอนว่าความผันผวนของตลาด Forex ไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ แต่มันมีปัจจุยและสาเหตุที่ทำให้เกิดความผันผวนขึ้นมา ซึ่งปัจจัยหลักก็คือ อุปสงค์และอุปทาน (Demand & Supply) แล้วอะไรทำให้เกิดอุปสงค์และอุปทานล่ะ?…

  1. ข่าวเศรษฐกิจ : ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ ๆ เช่น อัตราดอกเบี้ย, การว่างงาน, GDP ตัวเลขเหล่านี้สามารถกระตุ้นการซื้อขายจนเกิด อุปสงค์/อุปทาน อย่างมาก
  2. เหตุการณ์ทางการเมือง : ความขัดแย้ง, การเลือกตั้ง, นโยบายใหม่ๆ สร้างความไม่แน่นอน ไม่มั่นใจของนักลงทุนและส่งผลต่อค่าเงินด้วย
  3. ความเชื่อมั่น : ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อเศรษฐกิจ (ที่มาจากข้อ 1 และ2 ) มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อขาย หากเชื่อมั่นมาก ราคาก็มีแนวโน้มสูงขึ้น หากความเชื่อลดลงก็ตรงกันข้าม
  4. ผู้เล่นรายใหญ่ : กลายเป็นหมากสำคัญทันทีหากมีการประกาศตัวเลขสำคัญ ผู้รายใหญ่ (ธนาคาร/สถาบันการเงินระดับโลก) จะเข้ามาในตลาดเพื่อหวังทำกำไร ทำให้เกิดความผันผวนได้
ทฤษฎีวาฬ-เม่า
ทฤษฎีวาฬ-เม่า เป็นเพียงมุมมองหนึ่งของตลาด Forex แม้ว่าการซื้อขายของผู้เล่นรายใหญ่จะมีอิทิธิพลต่อราคาของคู่เงินจริงแต่ก็ไม่ใช่ปัจจัยทั้งหมดที่ทำให้ราคาผันผวน ยังมีปัจจัยทางอุปสงค์-อุปทานอื่นๆ อีก

ช่วงเวลาของ Forex Volatility

เรารู้แล้วว่าตลาด Forex จะต้องเกิดความผันผวนอย่างแน่นอน แต่ว่าจะผันผวนกี่โมง? อันนี้เราต้องแยกแยะแต่ละสกุลเงินก่อนครับ เพราะสกุลเงินแต่ละคู่ก็เกิดช่วงเวลาผันผวนที่ไม่ตรงกัน โดยขึ้นกับปัจจัยของวันและเวลาครับ

เวลาที่ผันผวน

  • โดยปกติแล้วช่วงเวลาที่ตลาดมีความผันผวนมากที่สุดคือช่วงที่ตลาด Forex ของประเทศต่าง ๆ เปิดทำการซื้อขายพร้อมกัน ซึ่งจะส่งผลให้คู่สกุลเงินที่เกี่ยวข้องเกิดการเคลื่อนไหวอย่างมีนัยสำคัญ
  • ตัวอย่างเช่น คู่สกุลเงิน JPY และ GBP (รวมถึง EUR ด้วย) ส่วนมากจะเริ่มมีความผันผวนคือ 14:00-16:00 PM หรือช่วงที่ตลาดญี่ปุ่นใกล้ปิดทำการ ในขณะที่ตลาดลอนดอนเพิ่งเปิดทำการ
  • นั่นเป็นเพราะช่วงเวลาคาบเกี่ยวที่ทั้ง 2 สกุลเงินอยู่ในช่วงเปิดตลาดนั้น เป็นช่วงที่ JPY ใกล้จะปิดแล้วและเป็นช่วงที่ตลาดลอนดอนเพิ่งจะเปิด
ช่วงความผันผวนของคู่สกุลเงิน EUR/USD
จากกราฟความผันผวนของคู่สกุลเงิน EUR/USD จะสังเกตได้ว่าช่วงเวลาที่มีความผันผวนสูงสุดคือช่วงที่ตลาดลอนดอนและนิวยอร์กเปิดทำการซื้อขายคาบเกี่ยวกัน (ประมาณ 20:00-00:00 น. ในวงกลมสีฟ้า) โดยมีการแกว่งตัวราคาที่รุนแรงและปริมาณซื้อขายสูงกว่าปกติ

วันที่ผันผวน

  • วันไหนคือวันที่ตลาดผันผวน? ความผันผวนในตลาด Forex แตกต่างกันไปในแต่ละวัน ขึ้นอยู่กับการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจและสถานการณ์ของโลก
  • เหตุผลก็เพราะหากวันนั้นมีการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญ นักลงทุน/เทรดเดอร์ทั่วโลก ก็ต่างพากันคาดการณ์ราคาและเข้าซื้อ-ขายเพื่อเก็งกำไรกัน
  • แต่ก็มีบางสถานการณืเช่นกันที่เราไม่สามารถรับรู้ได้ล่วงหน้าว่าจะส่งผลค่อความผันผวนของค่าเงินที่รุนแรง เช่น สถานการณ์โรคระบาด, สงคราม เหมือนกับที่เราพบเจอ Covid-19 มา
ความผันผวนของช่วงเวลาที่มีข่าวสำคัญ
ตัวอย่างกราฟสกุลเงิน EURUSD จะเห็นว่าช่วงที่มีการประกาศข่าวสำคัญ (สี่เหลี่ยมสีแดง) เป็นช่วงที่ราคาวิ่งขึ้นลง แกว่งตัวรุนแรงเพราะข่าวที่ประกาศนั้นค่อนข้างสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจโลก นักลงทุนจึงคาดการณืและซื้อ-ขายสกุลเงินจำนวนมาก
  • อีกหนึ่งข้อมูลสถิติเล็กๆ น้อยๆ จากเว็บไซต์ investing ที่รวมสถิติความผันผวนของแต่ละคู่เงินเอาไว้ โดยทีมงานยกตัวอย่างจาก EURUSD มา ทั้งแบบ รายวัน/รายชั่วโมง/รายสัปดาห์
สถิติความผันผวนของ คู่เงิน EURUSD จากเว็บไซต์ Investing
จากสถิติของเว็บไซต์ Investing พบว่าคู่เงิน EURUSD มีความผันผวนโดยเฉลี่ยใกล้เคียงกันทุกวัน และช่วงเวลาที่ผันผวนโดยเฉลี่ยคือ 13:00-16:00 ของยุโรป (20:00-00:00 ของไทย) และวันที่ผันผวนสูงสุดเฉลี่ยแล้วคือวันจันทร์ ต่ำสุดคือวันพุธ

4 เคล็ด(ไม่)ลับ เมื่อเผชิญกับความผันผวน

ในเมื่อความผันในตลาด Forex เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้แน่นอนอยู่แล้วเพราะมันเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงในเวลาเดียวกัน ดังนั้นมันก็พอจะมีวิธีรับมือกับมันอยู่เช่นกัน

  1. เข้าใจความผันผวน : เมื่อเรารู้สาเหตุที่จะทำให้เกิดความผันผวน เราก็จะรู้วิธีรับมือกับมันอาจจะเลี่ยงมันไปหรือวิเคราะห์ให้เฉียบขาดเพื่อพลิกมันเป็นโอกาส
  2. บริหารความเสี่ยงไม่ขาด : ไม่ว่าความผันผวนจะรุนแรงและหนักหนาแค่ไหน เทรดเดอร์ไม่ควรลืมที่จะบริหารความเสี่ยงอยู่เสมอ เพราะถ้าเกิดเราผิดพลาดไปมันจะช่วยให้ความผันผวนนั้นเบากว่าที่คิด
  3. ลดขนาด Position : อาจจะพอเป็นเคล็ดลับที่ไม่ได้ปรับที่การวิเคราะห์ แต่ปรับที่การเทรดของเรานี่แหละ ในเมื่อเรารู้แล่วว่าตลาดจะเกดิความผันผวนก็ปรับให้ Position หรือขนาด Lots ของเราให้ลดลง
  4. ใช้เหตุผลเหนืออารมณ์ : ช่วงที่ตลาดเกิดผันผวนนี่แหละ คือช่วงที่ราคาบ่งบอกพฤติกรรมและจิตวิทยาของเทรดเดอร์ได้ดีที่สุด ดังนั้นใครควบคุมมันได้ก่อนคนนั้นมีโอกาสรอดสูง
การรับมือจากความผันผวนในตลาด Forex
ความผันผวนในตลาด Forex คือเรื่องปกติที่เทรดเดอร์ต้องประสบพบเจอ สิ่งสำคัญคือวิธีการรับมือกับมัน ซึ่ง forexthai ขอแนะนำ 4 ข้อคือ ต้องเข้าใจสาเหตุของความผันผวนนั้นก่อน ควบคู่กับการบริหารความเสี่ยงหรือลดขนาดออเดอร์ลง บางครั้งการไม่เข้าเทรดเลยก็เป็นวิธีรับมือที่ดีที่สุดได้

วิดีโอเกี่ยวกับ Forex Volatility

การใช้เครื่องมือต่าง ๆ เพื่อวัด Volatility (ความผันผวน) ในตลาด Forex เครดิต By Blue Edge Forex Focus นาทีที่ 0:26-2:45

ในบทความเรายังไม่ได้พูดเรื่องการวัด Volatility (ความผันผวน) ในตลาด Forex กันเลย ทีมงาน forexthai ไปเจอคลิปวิดีโอหนึ่งมาที่พูดถึงเรื่องนี้ คิดว่ามันน่าสนใจและมองเห็นภาพได้ชัดเจนกว่าว่าเทรดเดอร์คนนี้เขาใช้เครื่องมืออะไรบ้างในการวัด Volatility เชิงเทคนิค จึงอยากจะแชร์ให้ผู้อ่านทุกคนได้รับชมกันครับ

  • Focus นาทีที่ 0:26 อธิบายการใช้ Moving Averages (MA) วัด Volatility
  • Focus นาทีที่ 1:10 การใช้ Bollinger Bands วัด Volatility
  • Focus นาทีที่ 1:54 การใช้ Average True Range (ATR) วัด Volatility

สรุป

อย่างที่รู้กันว่าตลาด Forex ขึ้นชื่อเรื่องความผันผวนสูง มันอาจจะพอแยกแยะได้ว่าคู่เงินไหนผันผวนสูงที่สุดหรือรองลงมา แต่นั่นก็ไม่สำคัญเท่ากับการเข้าใจว่าความผันผวนสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามสภาวะตลาดและเราควรมีการเตรียมพร้อมรับมือกับความผันผวนอยู่เสมอ

ดังนั้นสำหรับเทรดเดอร์มือใหม่แล้วการเทรดคู่เงินที่มีความผันผวนสูงอาจไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าจะแนะนำควรเทรดคู่เงินที่มีความผันผวนปานกลางก่อนเช่นคู่สกุลเงินรอง เมื่อมีความมั่นใจและประสบการณ์มากขึ้นค่อยลองเทรดในคู่เงินที่มีความผันผวนสูง ซึ่งเราจะเติบโตเป็นเทรดเดอร์มืออาชีพเก่งๆ ได้เองครับ

ทีมงาน: forexthai.in.th

แสดงข้อคิดเห็น ให้กำลังใจ

comments

สารบัญบทความ